ทีมนักดาราศาสตร์จากไต้หวันจึงสร้างสมมติฐานจากแนวคิดของไดสันว่า มนุษย์ต่างดาวที่มีอารยธรรมและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีระดับสูง น่าจะติดตั้งโครงสร้างยักษ์แบบไดสันสเฟียร์รอบแหล่งพลังงานต่าง ๆ ในจักรวาล โดยอารยธรรมต่างดาวที่อยู่ในระดับสูงมาก ก็อาจต้องการพลังงานมากกว่าที่ได้จากดาวฤกษ์ของตนเอง ซึ่งทำให้หลุมดำเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจในการค้นหาร่องรอยของเอเลียนไปด้วย
เนื้อหาของรายงานวิจัยได้อธิบายไว้ว่า "แม้หลุมดำจะดูดกลืนทุกสิ่งทั้งสสารและพลังงานที่ตกลงไป แต่หลุมดำก็ปลดปล่อยพลังงานมหาศาลเป็นครั้งคราว ทั้งแสงสว่างและความร้อนหลายล้านองศาเซลเซียสจากจานพอกพูนมวล รวมทั้งพลาสมาแม่เหล็กพลังงานสูงจากชั้นโคโรนา และการปะทุไอพ่นเป็นลำไอออนความเร็วสูงเกือบเท่าแสง"
หลุมดำสามารถปลดปล่อยพลังงานมหาศาลได้ในหลายรูปแบบ
"แม้แต่แสงสว่างจากจานพอกพูนมวลของหลุมดำขนาดเล็ก ซึ่งมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์เพียง 5 เท่า ก็ยังเจิดจ้ายิ่งกว่าแสงสว่างของดาวฤกษ์ทั่วไปหลายร้อยเท่า"
"จากการใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ของเราทดสอบสมมติฐานนี้ พบว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากที่เอเลียนจะใช้งานไดสันสเฟียร์ โดยสามารถเก็บเกี่ยวพลังงานที่ให้แสงสว่างได้มากยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ของเรานับแสนเท่า" ทีมผู้วิจัยกล่าว
หากเอเลียนได้สร้างไดสันสเฟียร์มาเก็บเกี่ยวพลังงานจากหลุมดำไปจริง ทีมผู้วิจัยชี้ว่ามนุษย์จะสามารถตรวจพบรังสีอินฟราเรดที่มีเอกลักษณ์พิเศษ ซึ่งหลุดรอดออกจากไดสันสเฟียร์ที่กำลังดึงและแปลงพลังงานของหลุมดำอยู่ได้ ทั้งยังสามารถตรวจพบสัญญาณดังกล่าวได้ในหลายย่านความยาวคลื่นอีกด้วย
โดยจะต้องมีการพัฒนาเครื่องมือตรวจจับที่สามารถแยกแยะสัญญาณดังกล่าวออกจากการแผ่รังสีหลายชนิดของหลุมดำให้ได้ต่อไป