เพราะเหตุใดทำไมมหาสมุทรที่มีความลึกที่สุดถึงสำรวจยากที่สุดเรามีคำตอบมาให้เพื่อนๆได้รับรู้กันครับ
มหาสมุทรลึก สถานที่ลึกลับที่ไม่มีใครไปถึง แม้จะปกคลุมโลกของเราไปกว่า 70% แต่เรากลับรู้น้อยเหลือเกินว่าข้างใต้นั้นมีอะไรอยู่ และในความเป็นจริงกว่า 80% ของทั้งหมดยังไม่ได้รับการสำรวจ ทำไมมหาสมุทรถึงยากกว่าอวกาศ แต่ก็กลับยังมีชีวิตอยู่ได้พร้อมขยะพลาสติกอีกนิดหน่อย
“นั่นมันตัวอะไรกันนะ!?”
ทีมสำรวจ 2009 Pacific Northwest Expendition กล่าวขณะที่พวกเขาลงไปสำรวจทะเลที่ความลึก 1,524 เมตรแล้วเจอสิ่งมีชีวิตบางอย่างลอยผ่านหน้ายานดำน้ำ แต่คำถามของเขาไม่มีใครตอบ วิทยาศาสตร์ไม่รู้จักสิ่งนี้ และคาดว่ายังมีอีกมาที่ยังไม่รู้ภายใต้น้ำอันดำมืด
เหตุผลที่ทะเลลึกยังคงเป็นความลึกลับยิ่งกว่ากาแล็กซีสุดไกลเป็นพันล้านปีแสงที่กล้องโทรทรรศน์เจมส์ เวบบ์ ถ่ายภาพได้ ไม่ใช่เพราะนักวิทยาศาสตร์ไม่อยากไป แต่พวกเขาติดปัญหาใหญ่อยู่อย่างเดียว นั่นคือ ความดัน สิ่งทำให้การสำรวจเป็นอันตรายมากถึงมากที่สุด
ความดันคือผลของแรงดันจากสสาร แต่เพื่อเข้าใจง่าย ๆ ลองนึกภาพเรือดำน้ำทหารที่เราคุ้นตา น้ำที่อยู่ล้อมรอบมันจะ ‘ดัน’ ผนังเรือเข้าไปด้านใน และอากาศภายในเรือจะ ‘ดัน’ ผนังเรืออกไปด้านนอก นั่นคือความดันที่เราพูดถึง เพื่อไม่ให้น้ำ ‘ดัน’ จนยุบเข้ามา เรือจะต้องมีผนังหนามาก ๆ
อาจมาได้ถึง 12 นิ้วหรือ 1 ไม้บรรทัดและวัสดุนั้นต้องแข็งแรงเพียงพอที่จะทนรับแรงกดมหาศาลหลายหมื่นตันได้ อันที่จริง เรือดำน้ำของกองทัพมักดำกันไม่เกิน 450 เมตร มากสุดที่ 900 เมตร ถ้าไม่จำเป็นก็จะไม่ลงไปลึกกว่านั้นเพราะแรงดัน แต่ส่วนที่ลึกที่สุดนั้นลึกกว่านั้นหลายร้อยเท่า
มันมีชื่อว่า ‘Challenger Deep’ ในร่องลึก Mariana Trench ซึ่งลึก 10,935 เมตร นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อโซนเหล่านี้ให้มันสมชื่อว่า ‘เขตฮาดัล’ ตามชื่อฮาเดส เทพเจ้าแห่งยมโลกของกรีก มียานดำน้ำไม่กี่ลำเท่านั้นที่เคยไปถึง แต่เชื่อหรือไม่ว่า แม้จะลึกและความดันสูงขนาดนั้นก็ยังกลับมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่พร้อมกับขยะพลาสติกอีกนิดหน่อย
“ความดันอยู่ที่ 15,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว” Tim Shank นักชีววิทยากล่าว “มันรุนแรงมากจนเซลล์แต่ละเซลล์ของสัตว์ถูกบีบออก” 15,000 ปอนด์ = 6,803 กิโลกรัม และอยู่แค่ที่ความลึก 2,440 เมตรเท่านั้น แต่สถานที่ที่เรือไททานิคจมอยู่ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าแรงดันจะมากเป็นหมื่น ๆ ตัน
การสำรวจใต้ทะเลลึกกลายเป็นคนละเรื่องกับอวกาศ เทคโนโลยีใด ๆ ที่เคยใช้บนบกและอวกาศจะใช้ไม่ได้ในน้ำลึก ทุกอย่างต้องผ่านการออกแบบใหม่เพื่อใช้ในมหาสมุทร “การทำงานในมหาสมุทรลึกนั้นยากกว่ามาก เพราะสภาวะที่ท้าทายต่อเทคโนโลยี” Zara Mirmalek นักวิทยาศาสตร์ของ NASA กล่าว
แต่มันก็เป็นจุดที่ อวกาศและมหาสมุทรมาบรรจบกัน NASA เชื่อว่าการสำรวจใต้มหาสมุทรลึกจะช่วยให้พวกเขาสำรวจทะเลลึกบนดวงดาวอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น ยูโรปา ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี และ เอนเซลาดัส ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ พวกมันมีหลักฐานว่าอาจมีมหาสมุทรลึกซ่อนอยู่ใต้แผ่นน้ำแข็ง
ในปี 2017 NASA ได้เปิดตัวโครงการที่ชื่อว่า Subsea (Systematic Underwater Biogeochemical Science and Exploration Analog) เพื่อพัฒนายานควบคุมระยะไกลให้ไปยังพื้นมหาสมุทรแปซิฟิก และหวังว่าความรู้ที่ได้รับกลับมาจะทำให้ค้นหาชีวิตบนดาวดวงอื่นได้ง่ายขึ้น
แต่แม้แต่ NASA เองก็ยังยอมรับว่ายาก “การพัฒนายานพาหนะที่จะอยู่รอดได้นั้นยากจริง ๆ” Russell Smith วิศวกรจาก NASA กล่าว การสร้างฐานบนดวงจันทร์แม้จะยาก แต่มันก็จะง่ายกว่าการสร้างฐานใต้ทะเลแน่นอน และอย่างมากด้วย เราหวังว่าเราจะได้รู้จักมหาสมุทรของเราให้มากขึ้น ทั้ง ๆ ที่มันอยู่ตรงหน้าเราแท้ ๆ
ขอแสดงความเสียใจกับโศกนาฏกรรมยานดำน้ำไททันอย่างสุดซึ้ง