หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2564

พบปรากฏการณ์หลุมดำดูดกลืนดาวฤกษ์ ทำให้เกิดแสงสว่างได้เท่าซูเปอร์โนวา


นักดาราศาสตร์ของ QUB เชื่อว่า ดาวฤกษ์ที่มีลักษณะคล้ายดวงอาทิตย์ของเรา โคจรเข้าใกล้หลุมดำขนาดยักษ์จนถูกฉีกแยกและดูดกลืนเข้าไป

นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยควีนส์แห่งเมืองเบลฟาสต์ (QUB) ในไอร์แลนด์เหนือ เผยผลการศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดแสงสว่างจ้าจุดหนึ่งในกาแล็กซีที่ห่างไกลออกไปเมื่อปีที่แล้วว่า น่าจะเกิดจากหลุมดำที่หมุนตัวด้วยความเร็วสูงตรงเข้าฉีกทำลายและดูดกลืนดาวฤกษ์ดวงหนึ่งที่โคจรเข้าใกล้หลุมดำมากเกินไป ทำให้เกิดการปลดปล่อยแสงสว่างอย่างมหาศาลเทียบเท่ากับการระเบิดของดาวฤกษ์หรือซูเปอร์โนวาครั้งใหญ่

ก่อนหน้านี้ นักดาราศาสตร์อเมริกันชี้ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นซูเปอร์โนวาที่มีแสงสว่างจ้ามากที่สุด เท่าที่เคยมีการบันทึกมา แต่นักดาราศาสตร์ของ QUB มองว่า แสงจ้าดังกล่าวดูไม่เหมือนกับซูเปอร์โนวานัก และได้ศึกษาปรากฏการณ์ดังกล่าวเพิ่มเติม โดยรวบรวมข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล จนพบว่าแสงสว่างดังกล่าวน่าจะเกิดจากหลุมดำขนาดยักษ์ที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 100 ล้านเท่า และหมุนด้วยความเร็วสูง ตรงเข้าฉีกทำลายและดูดกลืนดาวฤกษ์ที่มีลักษณะคล้ายดวงอาทิตย์ของระบบสุริยะ

ภาพจากจินตนาการของศิลปิน แสดงให้เห็นหลุมดำยักษ์ที่หมุนตัวอย่างรวดเร็ว และล้อมรอบด้วยวงแหวนของมวลสารที่หลงเหลือจากดวงดาวที่ถูกดูดกลืนเข้าไป

ในขณะที่ดาวฤกษ์ดังกล่าวกำลังถูกหลุมดำยักษ์ดูดกลืน มวลสารบางส่วนได้ถูกปลดปล่อยออกมาในรูปของแสงสว่างจ้า ซึ่งเทียบได้กับการเกิดซูเปอร์โนวาครั้งใหญ่ แม้ว่าดาวฤกษ์ดวงนี้จะมีมวลไม่มากพอที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ซูเปอร์โนวาขึ้นด้วยตนเองก็ตาม ซึ่งปรากฏการณ์หลุมดำดูดกลืนดาวฤกษ์เช่นนี้ได้มีการค้นพบและบันทึกเอาไว้เพียง 10 ครั้งเท่านั้น

ศาสตราจารย์สตีเฟน สมาร์ตต์ แห่ง QUB บอกว่า หลุมดำนั้นเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของจักรวาลที่มีความหนาแน่นของมวลสารมากที่สุด โดยแม้แต่ความหนาแน่นของดาวนิวตรอนที่สามารถบีบอัดทุกคนบนโลกให้ลงไปอยู่ในช้อนชาได้ ก็ยังไม่มากเท่าหลุมดำซึ่งมีความหนาแน่นยิ่งกว่านั้นถึง 10 เท่า 
ทุกวันนี้ยังไม่มีใครทราบว่าหลุมดำเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในระยะต้นของกำเนิดจักรวาลพร้อมกับการก่อตัวของกาแล็กซีต่าง ๆ