หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2564

ดาวเคราะห์ที่มนุษย์อยู่อาศัยได้ มีอย่างน้อย 300 ล้านดวงในกาแล็กซีทางช้างเผือก

กล้องโทรทรรศน์วอร์ซอ (Warsaw Telescope) ใต้ทางช้างเผือก

ผลวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งรวบรวมโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ที่ปลดประจำการไปแล้วชี้ว่า ดาวเคราะห์ที่มีสภาพคล้ายโลกซึ่งมนุษย์อาจไปตั้งถิ่นฐานและอาศัยเป็นบ้านแห่งที่สองในอนาคตได้นั้น น่าจะมีอยู่อย่างน้อยถึง 300 ล้านดวงในกาแล็กซีทางช้างเผือก

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบันวิจัยในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ประมาณการดังกล่าวระบุว่า ดาวเคราะห์ที่มีศักยภาพสำหรับการตั้งอาณานิคมเหล่านี้ มีคุณสมบัติที่เกื้อหนุนต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตอย่างน้อยสามประการ ได้แก่การที่ดาวเป็นหินแข็งขนาดใกล้เคียงกับโลก, โคจรรอบดาวฤกษ์ศูนย์กลางที่ไม่ร้อนจัดหรือมีการปะทุพลังงานสูงเกินไป รวมทั้งเว้นระยะห่างจากดาวฤกษ์นั้นได้พอเหมาะ จนมีอุณหภูมิในระดับที่ทำให้น้ำคงสภาพของเหลวบนพื้นผิวดาวได้

ดร. สตีฟ บรายซัน นักดาราศาสตร์ประจำศูนย์วิจัยเอมส์ขององค์การนาซา (ARC) ผู้นำทีมวิจัยในครั้งนี้บอกว่า ได้นำข้อมูลการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (exoplanet) ตลอดระยะเวลา 4 ปีของภารกิจเคปเลอร์ครั้งแรก ระหว่างเดือน พ.ค. 2009 - พ.ค. 2013 มาวิเคราะห์ใหม่ และได้ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ล่าสุดเข้าช่วย เพื่อให้สมองกลสามารถตรวจสอบพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจากฐานข้อมูลดังกล่าวได้มากขึ้น

ก่อนหน้านี้การค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ใช้วิธีให้กล้องโทรทรรศน์ตรวจจับการเคลื่อนผ่านหน้าดาวฤกษ์ของวัตถุอวกาศขนาดเล็กกว่า หรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์ทรานซิต (transit) ซึ่งจะทำให้แสงดาวฤกษ์หรี่ลงไปชั่วขณะ

แต่ที่ผ่านมาดาวเคราะห์ขนาดเล็กซึ่งมีสภาพแวดล้อมคล้ายโลกจำนวนมาก อาจรอดหูรอดตานักวิทยาศาสตร์ไปได้ เพราะมันทำให้แสงดาวฤกษ์มืดมัวลงเพียงนิดหน่อย ไม่มากพอที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะตรวจจับและชี้ว่าเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้

ภาพจำลองกาแล็กซีทางช้างเผือกขณะชนเข้ากับกาแล็กซีอื่นในอดีต
ที่มาของภาพ,ESA
คำบรรยายภาพ,
ภาพจำลองกาแล็กซีทางช้างเผือกขณะชนเข้ากับกาแล็กซีอื่นในอดีต

ทีมผู้วิจัยจึงแก้ไขโดยปรับขอบเขตการวิเคราะห์แสงดาวฤกษ์ของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้กว้างขึ้น รวมทั้งเปลี่ยนวิธีประเมินว่าดาวเคราะห์อยู่ในเขตเว้นระยะห่างที่เหมาะสมจากดาวฤกษ์ หรืออยู่ในโกลดิล็อกซ์โซน (Goldilocks Zone) ที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตหรือไม่ โดยใช้รัศมีของดาวเคราะห์และจำนวนอนุภาคของแสง (โฟตอน) ที่ตกกระทบหนึ่งหน่วยพื้นที่ต่อวินาทีเป็นเกณฑ์

นอกจากนี้ ทีมผู้วิจัยยังได้จำกัดขอบเขตการค้นหาเพิ่มเติม โดยมุ่งไปที่ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะซึ่งมีมวลระหว่าง 0.5 - 1.5 เท่าของโลก และดาวฤกษ์ที่มีอุณหภูมิระหว่าง 4,530 - 6,025 องศาเซลเซียสเป็นพิเศษ

ผลที่ได้จากการคำนวณตามเกณฑ์ดังกล่าวชี้ว่า มีดาวฤกษ์แบบนี้ในกาแล็กซีทางช้างเผือกราว 600 ล้านดวง โดยครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้ควรจะมีบริวารเป็นดาวเคราะห์หินแข็งขนาดใกล้เคียงกับโลก โคจรวนรอบอยู่ในระยะเหมาะสมของโกลดิล็อกซ์โซน ซึ่งเท่ากับว่าอาจมีดาวเคราะห์ที่มนุษย์อยู่อาศัยได้อย่างน้อย 300 ล้านดวง ภายในดาราจักรของเรานั่นเอง
ขณะนี้รายละเอียดของการวิเคราะห์ข้างต้น มีเผยแพร่อยู่ในคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ arXiv.org และจะได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร The Astronomical Journal เร็ว ๆ นี้