หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564

สิ่งมีชีวิตบนดาวพฤหัสบดี

Carl Sagan ร่วมมือกับเพื่อนนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ Ed Salpeter เพื่อออกแบบชีวิตที่จะสามารถวิวัฒนาการอยู่รอดได้ในกลุ่มเมฆของดาวพฤหัสบดี อย่างเช่น "floaters" ที่คล้ายกับแมงกะพรุนเหล่านี้

ซึ่งนำเสนอในรายการ Cosmos: Possible Worlds ทาง National Geographic Channel ภาพโดย: Cosmos Studios

ในช่วงปีระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1960 และ 1970 นักวิทยาศาสตร์เคยได้คำนวณเงื่อนไขต่างๆสำหรับจุลินทรีย์ที่สามารถอยู่รอดได้ในชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดี ชั้นบรรยากาศของดาวแก๊สยักษ์แห่งนี้ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยไฮโดรเจน มีเทน แอมโมเนีย และน้ำ ซึ่งได้รับความร้อนจากความอลหม่านของอากาศและฟ้าผ่า สำหรับความเป็นไปได้ของชีวิตที่จะสามารถเกิดขึ้นได้ในชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีถูกเสนอขึ้นในปี ค.ศ. 1976

โดยนักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์  ‘คาร์ล เซแกน’ (Carl Sagan) และนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ‘เอ็ดวิน ซอลพีเทอร์’ (Edwin Salpeter) ภายหลังจากที่ยานไพโอเนียร์ 10 บินเฉียดผ่านดาวพฤหัสบดีไปในปี ค.ศ. 1973

เขาเปรียบเทียบนิเวศวิทยาของดาวเคราะห์แก๊สกับมหาสมุทรบนโลกของเรา แม้จะมีสภาพที่แตกต่างกัน แต่ก็มีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกัน สำหรับในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยแอมโมเนียก็อาจไม่ใช่ปัญหาสำหรับชีวิต จากการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้นพบว่าจุลินทรีย์บางชนิดสามารถอยู่รอดในชั้นบรรยากาศที่อุดมไปด้วยแอมโมเนียได้ ถึงขั้นที่ คาร์ล เซแกน เขียนชื่อไว้ในรายการคอสมอสของเขาว่า “ชีวิตบนดาวพฤหัสบดี”

เขาบอกว่าบางทีเราอาจพบเจอกับชีวิตที่วิวัฒนาการขึ้นมาในลักษณะที่คล้ายกับแมงกะพรุน ในระบบนิเวศแห่งนี้พวกมันจะแหวกว่ายไปมาอยู่ในชั้นบรรยากาศด้านบน โดยการสูบเอาแก๊สฮีเลียมออกจากภายในตัวแล้วแทนที่ด้วยแก๊สที่เบากว่าอย่างเช่นไฮโดรเจน ด้วยวิธีนี้จึงชวนให้เรานึกถึงบัลลูนอากาศร้อน สิ่งมีชีวิตลอยตัวพวกนี้จะมีชีวิตอยู่ได้โดยการกินโมเลกุลอินทรีย์ต่างๆที่พบได้ในชั้นบรรยากาศ หรือบางทีพวกมันอาจสังเคราะห์อาหารขึ้นเองได้จากอากาศและแสงแดดคล้ายกับในสิ่งที่พืชทำ

อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ในภายหลังจากการทดลองก็ดูเหมือนจะยิ่งลดความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนนั้น เนื่องจากพายุที่รุงแรงในชั้นบรรยากาศจะพัดพาโมเลกุลที่จำเป็นต่อชีวิตลงไปอยู่ด้านล่าง ซึ่งมีสภาพแวดล้อมไม่เป็นมิตรอย่างมากในเรื่องของแรงกดดันและอุณหภูมิ จนส่งผลให้พวกมันถูกทำลายหายไปในที่สุด ที่สำคัญคือทุกวันนี้เรายังไม่พบหลักฐานใดๆ ที่จะเชื่อมโยงไปสู่กิจกรรมทางชีววิทยาตามจินตนาการของ คาร์ล เซแกน เลย

ปัจจุบันสิ่งที่น่าสนใจของชีวิตในที่แห่งนี้กลับไม่ใช่ดาวพฤหัสบดีแต่เป็นดวงจันทร์บริวารของมันแทน ซึ่งถูกประเมินว่ามีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่ชีวิตจะสามารถดำรงอยู่ได้ และจากภาพหลักฐานต่างๆก็บ่งชี้ว่ามีมหาสมุทรที่เป็นของเหลวอยู่ใต้พื้นผิวดาว ซึ่งได้รับความร้อนมาจากใต้พิภพ

ดวงจันทร์เหล่านี้ประกอบไปด้วย ยูโรปา แกนีมีด และคัลลิสโต ในกลางทศวรรษที่ 2020 นี้ เราก็จะมีภารกิจสำรวจอวกาศที่สำคัญในความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา กับ องค์การอวกาศยุโรป หรือ อีเอสเอ ในชื่อ Europa Jupiter System Mission – Laplace 
ที่มีแผนจะส่งยานอวกาศหุ่นยนต์ไปสำรวจระบบดาวพฤหัสบดี โดยจะมุ่งเน้นไปที่ ดวงจันทร์ยูโรปา และ แกนีมีด ซึ่งหวังว่าเราจะได้พบกับเรื่องที่น่าตื่นเต้นตามมาหลังจากนั้น