หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2563

วงการดาราศาสตร์ผิดหวัง พร็อกซิมา บีไร้สิ่งมีชีวิต


(ภาพจากฝีมือศิลปิน) ดาวฤกษ์ประเภทดาวแคระแดงเกิดการลุกจ้าของชั้นบรรยากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อดาวบริวารที่โคจรวนรอบอยู่ได้

ดาวพร็อกซิมา บี (Proxima b) ซึ่งเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด และเป็นความหวังของบรรดานักดาราศาสตร์ว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตอยู่ ต้องกลายเป็นเพียงฝันสลายเมื่อผลการศึกษาล่าสุดพบว่า พลังงานที่ลุกจ้าจากชั้นบรรยากาศของดาวฤกษ์ใกล้เคียงได้แผดเผาทำลายชั้นโอโซนของดาวนี้ไปจนหมด

ทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติ นำโดยนายฮาเวิร์ด วอร์ด นักศึกษาวิจัยระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา วิทยาเขตแชเปิลฮิลล์ของสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานการค้นพบนี้ในคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ arXiv.org 

โดยระบุว่าพบ "ซูเปอร์แฟลร์" (Superflare) หรือการลุกจ้าอย่างรุนแรงของพลังงานจากชั้นบรรยากาศของดาวพร็อกซิมา เซ็นทอรี (Proxima Centauri) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ชนิดดาวแคระแดงที่ดาวพร็อกซิมา บี เป็นบริวารอยู่

รายงานดังกล่าวระบุว่า ได้พบปรากฏการณ์ซูเปอร์แฟลร์ที่ทรงพลังรุนแรงจากดาวฤกษ์พร็อกซิมา เซ็นทอรี เป็นครั้งแรก เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2016 ซึ่งทำให้ดาวดวงนี้ส่องแสงสว่างจ้าขึ้นจนสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า

เมื่อนำข้อมูลนี้มาพิจารณาร่วมกับรายงานที่ว่า ได้เคยเกิดปรากฏการณ์คล้ายกันซึ่งมีระดับการปลดปล่อยพลังงานต่ำกว่ามาแล้วหลายครั้ง ทำให้ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์คำนวณได้ว่า ชั้นโอโซนของดาวพร็อกซิมา บี น่าจะถูกทำลายด้วยซูเปอร์แฟลร์จากดาวพร็อกซิมา เซ็นทอรี รวมทั้งการปลดปล่อยพลังงานติดต่อกันหลายครั้งในอดีต จนเสียหายถึง 90% ภายในช่วงเวลาเพียง 5 ปี

(ภาพจากฝีมือศิลปิน) ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ "พร็อกซิมา บี" และดาวฤกษ์ "พร็อกซิมา เซ็นทอรี" ที่อยู่ห่างออกไป

อัตราการทำลายล้างดังกล่าว ทำให้ชั้นโอโซนไม่อาจซ่อมแซมฟื้นฟูตัวเองได้ในช่วงเวลาจำกัด ซึ่งหากสภาพการณ์นี้เกิดขึ้น ติดต่อกันเป็นเวลาหลายแสนปี ก็เพียงพอที่จะทำให้ชั้นบรรยากาศทั้งหมดของดาวพร็อกซิมา บี ถูกทำลายไปจนหมดสิ้น

เมื่อปราศจากชั้นโอโซนที่เป็นเกราะป้องกันรังสีจากอวกาศ รังสีเอกซ์รวมทั้งรังสีอัลตราไวโอเลตจะเข้าถึงพื้นผิวดาวได้ในระดับความเข้มสูงและทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต แม้กระทั่งจุลินทรีย์ซึ่งทนทานทรหดมากที่สุดก็ยังไม่อาจมีชีวิตอยู่รอดในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ได้

ผู้นำทีมวิจัยนี้กล่าวว่า "แม้การค้นพบล่าสุดจะสร้างความผิดหวังให้กับวงการดาราศาสตร์ แต่ข้อมูลนี้ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการมองหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีสภาพแวดล้อมคล้ายโลก และน่าจะเอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตต่อไปได้"
"การที่ดาวแคระแดงอย่างพร็อกซิมา เซนทอรี มีพฤติกรรมปลดปล่อยพลังงานรุนแรงเช่นนี้ ทำให้ประเมินคัดกรองได้ว่าดาวเคราะห์บริวารที่อยู่ใกล้เคียงจะมีศักยภาพให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งดาวแคระแดงนั้นพบได้ทั่วไป และมีอยู่มากถึง 75% ของประชากรดาวฤกษ์ในกาแล็กซีทางช้างเผือก"