หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ดาราศาสตร์ ออร์กคืออะไร มารู้จักวงกลมคลื่นวิทยุประหลาดบนท้องฟ้าซีกโลกใต้


ดาราศาสตร์ : “ออร์ก” คืออะไร มารู้จักวงกลมคลื่นวิทยุประหลาดบนท้องฟ้าซีกโลกใต้ 11 ธันวาคม 2020 เมื่อเดือนกันยายนปี 2019 

แอนนา คาปินสกา นักดาราศาสตร์ในโครงการทำแผนที่เชิงวิวัฒนาการของเอกภพ (EMU Project) ได้สังเกตเห็นวัตถุอวกาศแปลกประหลาดที่ไม่มีใครเคยพบเจอมาก่อน ขณะเฝ้าดูห้วงอวกาศลึกของท้องฟ้าซีกโลกใต้ ด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุแอสแคป (ASKAP) ในทะเลทรายของออสเตรเลีย

มันมีรูปร่างเป็นวงกลมที่ดูเลือนรางเหมือนดวงวิญญาณบนท้องฟ้า และไม่สามารถอธิบายได้ด้วยความรู้หรือทฤษฎีทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์ใด ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ในสองสามวันต่อมา เพื่อนร่วมทีมวิจัยของคาปินสกาก็ได้พบวงกลมประหลาดนี้เพิ่มอีกหลายวงด้วยกัน จนในตอนแรกเธอตั้งชื่อให้มันว่า WTF ? ตามคำอุทานยอดฮิตที่คนยุคใหม่มักกล่าวออกมา เวลาเจอเรื่องเหนือความคาดหมาย หรือเรื่องพิศวงงงงวยที่ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ หลังจากการตรวจสอบเบื้องต้น ทีมนักดาราศาสตร์ผู้ค้นพบวัตถุอวกาศลึกลับชิ้นใหม่ ได้ให้ชื่อมันอย่างเป็นทางการว่า Odd Radio Circle "วงกลมคลื่นวิทยุประหลาด" หรือ "ออร์ก" (ORC) ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่ทราบว่ามันคืออะไรกันแน่ 

ศาสตราจารย์ เรย์ นอร์ริส ซึ่งสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นซิดนีย์ของออสเตรเลีย และเป็นผู้นำทีมนักดาราศาสตร์ข้างต้นบอกว่า เมื่อใช้กล้องโทรทรรศน์ซึ่งจับภาพในช่วงความยาวคลื่นที่มนุษย์มองเห็นได้ เราจะไม่เห็นสิ่งใดปรากฏอยู่บนท้องฟ้าส่วนที่พบออร์กเลย แต่จะสามารถ "ดักฟัง" หรือตรวจจับการแผ่คลื่นสัญญาณของมันได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุ

แม้จะยังไม่ทราบถึงแหล่งกำเนิดและขนาดที่แท้จริงของออร์ก แต่ทีมของศ. นอร์ริสแน่ใจว่า มันไม่ใช่ภาพลวงที่เกิดขึ้นจากซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพทำงานผิดพลาด ทั้งไม่ใช่กลุ่มเมฆของฝุ่นและก๊าซที่หลงเหลือจากการระเบิดซูเปอร์โนวาเมื่อดาวฤกษ์สิ้นอายุขัย เพราะออร์กที่พบอยู่ห่างจากกลุ่มดาวฤกษ์ และยังมีจำนวนมากเกินกว่าเหตุการณ์ซูเปอร์โนวาที่ควรจะเกิดขึ้นได้

การที่ออร์กปรากฏเป็นวงแหวนของคลื่นวิทยุ โดยมีรูปทรงสมมาตรและกลมอย่างเกือบจะสมบูรณ์ ทำให้เชื่อได้ว่ามันไม่ใช่สัญญาณจากดาราจักรหรือกาแล็กซีที่กำลังมีการก่อกำเนิดดาวฤกษ์ขึ้นพร้อมกันจำนวนมาก ทั้งไม่ใช่สัญญาณจากดาราจักรวิทยุ (radio galaxy) ซึ่งมีรูปร่างไม่เป็นทรงกลมที่ชัดเจนนัก

ลักษณะของออร์กยังไม่เข้าข่าย "วงแหวนไอน์สไตน์" หรือคลื่นวิทยุจากดาราจักรห่างไกลที่ถูกสนามความโน้มถ่วงของกระจุกดาราจักรใหญ่บิดงอให้กลายเป็นวงแหวนด้วย เนื่องจากไม่พบกระจุกดาราจักรที่ใจกลางของวงกลมประหลาดดังกล่าว

สมมติฐานที่ได้จากผลวิเคราะห์เบื้องต้น ซึ่งทีมวิจัยกำลังจะตีพิมพ์ลงในวารสารของสมาคมดาราศาสตร์ออสเตรเลีย คาดว่าออร์กอาจเป็นคลื่นกระแทกที่แผ่ออกมาจากการระเบิดครั้งมโหฬารที่ใจกลางดาราจักรแห่งหนึ่ง ซึ่งน่าจะอยู่ห่างออกไปจากโลกถึง 1 พันล้านปีแสง

ออร์กอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อื่น ๆ เช่นการปะทุสัญญาณวิทยุแบบฉับพลันหรือ FRB รวมทั้งการชนและรวมตัวกันระหว่างดาวนิวตรอนและหลุมดำ ซึ่งก่อกำเนิดคลื่นความโน้มถ่วงด้วย

ปัจจุบันมีการค้นพบออร์กแล้วกว่า 1,000 ดวง และยังมีแนวโน้มว่าจะค้นพบเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ จากการขยายความร่วมมือระหว่างเครือข่ายนักดาราศาสตร์ทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอแนวคิดแปลกใหม่ที่หลากหลายขึ้น ซึ่งสักวันอาจไขความกระจ่างได้ว่าออร์กนั้นคืออะไรกันแน่ ดังเช่นกรณีที่นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียสองรายออกมาบอกว่ามันคือ "คอหอย" ของรูหนอน ที่ใช้เดินทางข้ามเวลาและย่นระยะทางในอวกาศได้นั่นเอง