Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ทฤษฎีใหม่เผยมี ปฏิจักรวาล เอกภพคู่ตรงข้ามที่เหมือนเงาสะท้อนในกระจก

ทฤษฎีใหม่เผยมี "ปฏิจักรวาล" เอกภพคู่ตรงข้ามที่เหมือนเงาสะท้อนในกระจก
หากจักรวาลของเราถือกำเนิดขึ้นจากเหตุการณ์บิ๊กแบง แล้วก่อนหน้านั้นมีจักรวาลอื่นดำรงอยู่หรือไม่ ?

เมื่อราว 14,000 ล้านปีก่อน การระเบิดครั้งใหญ่หรือบิ๊กแบงอาจไม่ได้ให้กำเนิดแต่เพียงจักรวาลที่เรารู้จักและอาศัยอยู่เท่านั้น แต่ยังมีการเกิดขึ้นของ "ปฏิจักรวาล"
(Anti-universe) หรืออีกเอกภพหนึ่งที่มีลักษณะเป็นคู่ตรงข้ามกับจักรวาลของเรา ซึ่งเทียบได้กับเงาสะท้อนในกระจกนั่นเอง

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเพริมิเทอร์เพื่อการศึกษาฟิสิกส์ทฤษฎีของแคนาดา ตีพิมพ์แนวคิดใหม่ล่าสุดดังกล่าวลงในวารสาร Physical Review Letters โดยระบุว่า "ปฏิจักรวาล" ซึ่งถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับจักรวาลของเรานั้น มีการขยายตัวไปในทิศทางตรงข้ามซึ่งเป็นการถอยหลังย้อนไปในห้วงเวลาก่อนการเกิดบิ๊กแบง แทนที่จะขยายตัวไปพร้อมกับเวลาที่เดินไปข้างหน้าแบบในจักรวาลที่เราอาศัยอยู่

การขยายตัวแบบถอยหลังไปในห้วงเวลานับจากเหตุการณ์บิ๊กแบงเช่นนี้ อาจถือได้ว่าปฏิจักรวาลนั้นเป็นเอกภพที่ดำรงอยู่มาก่อนการเกิดบิ๊กแบงได้ด้วยเช่นกัน

นอกจากเวลาจะเดินถอยหลังในปฏิจักรวาลแล้ว ปริภูมิ (Space)ก็ยังกลับด้านกันกับจักรวาลของเรา รวมทั้งสสารที่เป็นองค์ประกอบก็ยังเป็นปฏิสสาร (Anti-matter) อีกด้วย ซึ่งคุณสมบัติทั้งหมดของปฏิจักรวาลนั้นเป็นไปตามกฎพื้นฐานของฟิสิกส์ที่เรียกว่า CPT Symmetry หรือหลักการสมมาตรของประจุ อนุภาค และเวลา ที่จะต้องมีคู่ตรงข้ามอยู่เสมอ
แบบจำลองการขยายตัวด้วยอัตราเร่งของจักรวาลนับแต่เหตุการณ์บิ๊กแบงเป็นต้นมา
ดร. นีล ทูร็อก หนึ่งในทีมนักฟิสิกส์ผู้เสนอแนวคิดเรื่องปฏิจักรวาลบอกว่า
"กรอบแนวคิดตามแบบจำลองการขยายตัวของจักรวาลที่ยึดถือกันอยู่ในทุกวันนี้มีข้อบกพร่อง กล่าวคือองค์ประกอบต่าง ๆ ของจักรวาลขาดความสมดุล จนนักฟิสิกส์จะต้องคอยจินตนาการถึงอนุภาคตัวใหม่ ๆ หรือสนามต่าง ๆ เพื่อมารองรับให้คำอธิบายปรากฏการณ์ที่ค้นพบใหม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้พวกเขาหลงทางได้"
"ด้วยเหตุนี้เราจึงพยายามอธิบายการขยายตัวของจักรวาล ด้วยหลักการสมมาตรที่เป็นพื้นฐานทางฟิสิกส์แทน
โดยใช้อนุภาคและสนามต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับกันดีอยู่แล้ว"
ทฤษฎีใหม่ดังกล่าวยังใช้อธิบายถึงการมีอยู่ของสสารมืด (Dark matter) ได้อีกด้วย โดยชี้ว่าจักรวาลในระบบสมมาตรนั้นจะเต็มไปด้วยอนุภาคนิวทริโนที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับอนุภาคอื่น (Sterile neutrino) ซึ่งอนุภาคที่มีมวลมากเป็นพิเศษชนิดนี้ก็คือสสารมืด ที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าเป็นตัวการยึดโยงดวงดาวในดาราจักรต่าง ๆ ให้เกาะอยู่เป็นกลุ่มก้อน และมีบทบาททำให้จักรวาลขยายตัวด้วยอัตราเร่ง

รายการบล็อกของฉัน