หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2566

รู้หรือไม่ว่า บิ๊กแบงปะทุขึ้นจากความว่างเปล่าได้อย่างไร


รู้หรือไม่ว่า บิ๊กแบงปะทุขึ้นจากความว่างเปล่าได้อย่างไร

ที่สุดของคำถามคาใจทางฟิสิกส์และอภิปรัชญาของใครหลายคน น่าจะได้แก่ปริศนาที่ว่า เอกภพหรือจักรวาลที่เราอาศัยอยู่นั้นถือกำเนิดขึ้นมาจากอะไรกันแน่ และทฤษฎีที่ว่าการขยายตัวครั้งใหญ่หรือบิ๊กแบง (Big Bang) ซึ่งเป็นจุดต้นกำเนิดของสรรพสิ่ง จู่ ๆ ก็ผุดขึ้นหรือปะทุขึ้นมาจากความว่างเปล่าไม่มีอะไรเลยในอดีตกาลนั้น มันจะเป็นไปได้จริงหรือ ?

ไม่ว่าจะตีลังกาคิดกี่ตลบ เราก็ไม่อาจจะจินตนาการถึงต้นกำเนิดของสรรพสิ่งที่มาจากความว่างเปล่าได้ เพราะสามัญสำนึกของคนทั่วไปคอยย้ำเตือนว่า มันจะต้องมีอะไรบางอย่างที่เป็นพื้นฐานของการก่อกำเนิดแฝงอยู่ด้วยแน่ ๆ ทว่าบางสิ่งบางอย่างที่น่าจะมีอยู่ก่อนแล้วนั้นมาจากไหน ?

ก่อนที่จะต้องปวดหัวเพราะคิดวนเวียนหาทางออกไม่เจอ ศาสตราจารย์อะลาสแตร์ วิลสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมของสหราชอาณาจักร ได้อธิบายไขความเรื่องนี้ให้คนทั่วไปที่ไม่ใช่นักฟิสิกส์ได้เข้าใจง่าย ๆ ผ่านบทความที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ The Conversation ว่าดังนี้

เมื่อพูดถึงกำเนิดจักรวาล แทนที่เราจะคิดทบทวนโดยย้อนไปในอดีต เราอาจต้องจินตนาการไปข้างหน้าถึงจุดจบของสรรพสิ่งเสียก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันเชื่อว่า เอกภพจะขยายตัวออกไปอย่างไม่สิ้นสุดจนดาราจักรต่าง ๆ แยกห่างออกจากกัน


 ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมวลสารจะลดลงจนห้วงอวกาศไร้ความเคลื่อนไหว รวมทั้งมีอุณหภูมิหนาวเย็นกว่าเดิมและมืดมิดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งดาวฤกษ์ดวงสุดท้ายดับไป และหลุมดำยักษ์สุดท้ายที่กลืนกินสรรพสิ่งระเหยหมดไปด้วยเช่นกัน

ทว่าจุดจบในรูปของจักรวาลที่ไร้พลังงานและไร้ชีวิตนี้ จะกลายมาเป็นต้นกำเนิดให้กับบิ๊กแบงครั้งใหม่ได้กระนั้นหรือ ? เรื่องนี้ ศ.วิลสันบอกว่า ก่อนที่เราจะไปทำความเข้าใจถึงประเด็นดังกล่าว ควรเริ่มพิจารณาจากปัญหาที่ว่า “สสารแรก” (the first matter) เกิดขึ้นมาได้อย่างไรจะเป็นการดีกว่า