หน้าเว็บ

วันพุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2566

ดาวเคราะห์น้อย 33 โพลีฮิมเนียนักฟิสิกส์เชื่อเป็นองค์ประกอบที่ไม่เคยพบที่ไหนเลยในจักรวาล

 

ดาวเคราะห์น้อย 33 โพลีฮิมเนีย (Asteroid 33 Polyhymnia) อาจประกอบด้วยบางสิ่งที่อยู่นอกเหนือตารางธาตุ นักฟิสิกส์เชื่อเป็นองค์ประกอบที่ไม่เคยพบที่ไหนเลยในจักรวาล

ตารางธาตุ หรือ The Periodic Table เป็นที่สิ่งเราหลายคนต้องท่องจำเพื่อสอบให้ผ่านโดยเฉพาะนักเรียนสายวิทย์ เรารู้ว่าธาตุที่ ‘หนาแน่น’ ที่สุดในตารางนี้ตามธรรมชาติคือ ‘ออสเมียม’ (Osmium, Os) มันมีความหนาแน่นถึง 22.59 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร มีเลขอะตอมอยู่ที่ 76 (หมายความว่ามีโปรตรอนอยู่ในนิวเคลียส 76 ตัว


ตัวเลขเหล่านี้ทำให้มันหนาแน่นมากกว่าแกนโลกเกือบ 2 เท่า และเกือบเท่ากับแกนกลางของดาวพฤหัสบดี แน่นอนว่ามีธาตุอื่น ๆ ที่มีโปรตรอนมากกว่าเช่นธาตุที่มีเลขอะตอม 105-118 ที่มนุษย์สังเคราะห์ แต่ออสเมียมคือธาตุที่หนาแน่นที่สุดตามธรรมชาติ และนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีธาตุที่มีเลขอะตอมเยอะหรือหนาแน่นกว่านี้หรือไม่ เนื่องจากพวกเขาไม่เคยพบที่ไหนอีกเลย


กระนั้นก็มีบางคนที่เชื่อว่ามีอยู่จริงโดยมีเลขอะตอมสูงสุดได้ที่ 164 และวัตถุนั้นอาจซ่อนอยู่ในดาวเคราะห์น้อย 33 โพลีฮิมเนีย ดาวเคราะห์น้อยที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 50-60 กิโลเมตร ซึ่งนักฟิสิกส์วัดความหนาแน่นมันครั้งแรกได้ 75.28 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร! 

กลายเป็นวัตถุความหนาแน่นสูงขนาดเล็ก (CUDO) ที่อาจมีสิ่งที่ไม่เคยอยู่ในตารางธาตุ “เนื่องจากความหนาแน่นมวลของดาวเคราะห์น้อย 33 โพลีฮิมเนีย นั้นมากกว่าความหนาแน่นมวลสูงสุดที่คุ้นเคยกันมา สสารอะตอมนี้ก็จัดเป็น CUDO ที่ไม่ทราบองค์ประกอบได้” รายงานระบุ

นักวิทยาศาสตร์บางคนไม่เชื่อและคิดว่าน่าจะเป็นความผิดพลาดจากการวัดมากกว่า แต่นักฟิสิกส์ Evan LaForge, Will Price และ Johann Rafelski จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา คิดว่าอย่างน้อยก็ต้องลองทดสอบและคำนวณดูก่อนว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

พวกเขาใช้แบบจำลองอะตอมที่เรียกว่า โธมัส-เฟอร์มี (Thomas-Fermi model) ซึ่งเป็นวิธีกว้าง ๆ แต่มีประโยชน์ในการศึกษาพฤติกรรมพื้นฐานของอะตอมบางประการได้ การคำนวณของพวกเขาสอดคล้องกับการคาดการณ์ในอดีตที่ระบุว่าธาตุที่มีเลขอะตอม 164 จะมีความหนาแน่นระหว่าง 36-68.4 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับดาวเคราะห์น้อย 33 โพลีฮิมเนีย


"เราได้สำรวจระบบนิวเคลียร์สองระบบที่แตกต่างกันโดยใช้แบบจำลองสัมพัทธภาพโธมัส-เฟอร์มี จากการสำรวจทั้งนิวเคลียสมาตรฐานและสสารอัลฟ่า เห็นได้ชัดว่าสสารนิวเคลียร์ทั้งสองประเภทสามารถอธิบายความหนาแน่นที่เห็นใน CUDO เช่นดาวเคราะห์น้อย 33 โพลีฮิมเนียได้”


พูดง่าย ๆ ว่ามันอาจมีธาตุหนาแน่นสูงที่ไม่รู้จักอยู่เลยที่ไหนในจักรวาลอยู่ แต่ทีมวิจัยเน้นย้ำว่าเป็นไปได้เช่นกันที่ตัวเลขของดาวเคราะห์น้อยอาจเกิดจากความผิดพลาด ถึงอย่างนั้นก็เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่ได้สำรวจทางความคิด และชี้ให้เห็นว่าอาจมีสิ่งที่เราไม่รู้อีกมากในเอกภพนี้ แม้แต่ระบบสุริยะด้วยเช่นกัน


"แนวคิดที่ว่าบางส่วนของสิ่งเหล่านี้(ธาตุที่มีเลขอะตอมจำนวนมาก)อาจมีความเสถียรเพียงพอมาจากภายในระบบสุริยะของเรา ถือเป็นความคิดที่น่าตื่นเต้น" Johann Rafelski กล่าว