นักวิจัยพบหลุมดำปีศาจ (Monster Black Hole) ใกล้โลก มวล 12 เท่า ของมวลดวงอาทิตย์
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2022 ที่ผ่านมา งานวิจัยการค้นพบหลุมดำปีศาจ (Monster black hole) โดยนักวิจัยด้านดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอลาบามา (The University of Alabama) ได้ถูกเผยแพร่ลงบนวารสารแอสโตรฟิสิคัล (Astrophysical Journal) ซึ่งสิ่งที่ทำให้งานวิจัยนี้ได้รับความสนใจนั่นก็คือ หลุมดำดังกล่าวที่ถูกค้นพบเป็นหลุมดำที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบ
ฐานข้อมูลของยานอวกาศไกอา
โดยนักดาราศาสตร์ได้ใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลของยานอวกาศไกอา (Gaia) ที่มีข้อมูลของระบบดาวคู่มากเกือบ 200,000 ระบบ มาศึกษาและบันทึกข้อมูลด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แผนภาพคู่ลำดับระหว่างสีของดาวฤกษ์กับความสว่างของดาว (Colour Magnitude Diagram), การสังเกตจากการเปลี่ยนแปลงของดอปเปลอร์ (Doppler shift), การสังเกตผ่านฟิล์มรังสีเอ็กซ์ และอื่น ๆ
ซึ่งนอกจากการพบหลุมดำดวงอื่น ๆ โดยที่หลาย ๆ ดวง เป็นหลุมดำที่ถูกค้นพบก่อนแล้ว สิ่งสำคัญของผลลัพธ์การศึกษานี้ก็คือ ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถอนุมานได้ว่ามีหลุมดำมวลมหึมาอยู่ในระบบดาวคู่หนึ่งที่อยู่ใกล้เคียงกับระบบสุริยะ ด้วยระยะทางที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 1,550 ปีแสง ซึ่งเป็นหลุมดำที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบ โดยตัวหลุมดำมีมวลประมาณ 12 เท่า ของมวลดวงอาทิตย์ และมีรอบการโคจรอยู่ที่ 185 วัน
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวไม่เพียงอาศัยข้อมูลจากฐานข้อมูลของยานอวกาศไกอาเท่านั้น แต่ยังอาศัยกล้องโทรทรรศน์แพลเน็ต ไฟน์เดอร์ (Automated Planet Finder) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย กล้องโทรทรรศน์แมกเจลแลนยักษ์ของชิลี (Chile’s Giant Magellan Telescope) และหอดูดาวเค็ก (W.M. Keck Observatory) ในรัฐฮาวาย
ความท้าทายในการค้นพบหลุมดำ
โดยหลุมดำเป็นวัตถุที่ท้าทายมากของนักดาราศาสตร์ เพราะแม้ว่ามันจะมีมวลและมีแรงโน้มถ่วงที่มหาศาล แต่เป็นวัตถุที่สามารถสังเกตเห็นได้ยาก เนื่องจากด้วยแรงโน้มถ่วงที่มหาศาลของตัวมันเอง ทำให้ไม่มีแสงใดสามารถหลบหนีจากหลุมดำได้ ดังนั้นหลุมดำจึงเป็นวัตถุที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า และการสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ช่วงคลื่นแสงที่มองเห็นได้ด้วยตา (Visible light)
สาระข้อมูลเพิ่มเติม
หลุมดำ (อังกฤษ: black hole) หมายถึงเทหวัตถุในเอกภพที่มีแรงโน้มถ่วงสูงมาก ไม่มีอะไรออกจากบริเวณนี้ได้แม้แต่แสง ยกเว้นหลุมดำด้วยกัน เราจึงมองไม่เห็นใจกลางของหลุมดำ
หลุมดำจะมีพื้นที่หนึ่งที่เป็นขอบเขตของตัวเองเรียกว่าขอบฟ้าเหตุการณ์ ที่ตำแหน่งรัศมีชวาร์ซชิลด์ ถ้าหากวัตถุหลุดเข้าไปในขอบฟ้าเหตุการณ์ วัตถุจะต้องเร่งความเร็วให้มากกว่าความเร็วแสงจึงจะหลุดออกจากขอบฟ้าเหตุการณ์ได้ แต่เป็นไปไม่ได้ที่วัตถุใดจะมีความเร็วมากกว่าแสง วัตถุนั้นจึงไม่สามารถออกมาได้อีกต่อไป