หลุมอุกกาบาต Hiawatha ที่ถูกพบใต้ชั้นน้ำแข็งกรีนแลนด์อาจไม่ได้มีอายุ 13,000 ปี แต่มีอายุถึง 58 ล้านปี!
นักวิทย์ฯ เผย หลุมอุกกาบาต Hiawatha ที่ถูกพบใต้ชั้นน้ำแข็งกรีนแลนด์เมื่อ 7 ปีที่แล้ว อาจไม่ได้มีอายุ 13,000 ปี แต่มีอายุถึง 58 ล้านปี! หลังนักวิจัยเก็บหิน-ทรายมาวิเคราะห์หาอายุ คาดปะทะกับโลกในช่วงเวลาที่อาร์กติกยังเป็นป่าดิบชื้นอยู่
ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว นักวิจัยได้ค้นพบ Hiawatha crater หลุมอุกกาบาตกว้างประมาณ 31 กิโลเมตร ที่ตั้งอยู่ใต้ชั้นน้ำแข็งหนา 1 กิโลเมตรในกรีนแลนด์ โดยนักวิจัยคาดว่า หลุมนี้น่าจะเกิดขึ้น จากการปะทะของอุกกาบาต เมื่อประมาณ 13,000 ปีที่แล้ว
แต่หลังจากที่นักวิจัยเก็บตัวอย่างหิน และทรายมาวิเคราะห์ด้วยการหาอายุจากธาตุกัมมันตรังสี พวกเขาพบว่า จริง ๆ แล้ว หลุมอุกกาบาต Hiawatha เก่าแก่กว่านั้นมาก เพราะมันก่อเกิดขึ้น เมื่อประมาณ 58 ล้านปีที่แล้ว! โดยการปะทะนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า อาร์กติกยังคงเป็นป่าดิบชื้น ที่มีอุณหภูมิประมาณ 20 องศาเซลเซียส
“การหาอายุของหลุมอุกกาบาตนี้เป็นงานที่ยากมาก เราส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์ในห้องทดลองที่สวีเดน และเดนมาร์ก ซึ่งใช้วิธีการหาอายุแตกต่างกันและพบว่า ผลวิเคราะห์ออกมาใกล้เคียงกัน ตอนนี้ผมคิดว่า เรารู้อายุที่แท้จริงของ Hiawatha แล้ว” Michael Storey หัวหน้าแผนกธรณีวิทยาจาก Natural History Museum ในเดนมาร์กกล่าว
อย่างไรก็ตามนักวิจัยยังไม่รู้ว่า การปะทะของอุกกาบาตลูกนี้ มีผลต่อสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ในลักษณะเดียวกัน กับการปะทะของอุกกาบาต Chicxulub หรือไม่
Pull out from the Hiawatha Impact Crater
ซึ่ง Chicxulub เป็นอุกกาบาต เส้นผ่านศูนย์กลางราว 10 กิโลเมตร ที่พุ่งชนโลก และทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไป เมื่อประมาณ 66 ล้านปีที่แล้ว โดยการปะทะของมันได้ทิ้งร่อยรอยไว้ เป็นหลุมอุกกาบาตยักษ์ในเม็กซิโก ที่มีความกว้างเกือบ 200 กิโลเมตร