หน้าเว็บ

วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ยานจูโนพบสายฟ้าแลบบนดาวพฤหัสบดีไม่ต่างจากที่เกิดบนโลก

ยานจูโนพบสายฟ้าแลบบนดาวพฤหัสบดีไม่ต่างจากที่เกิดบนโลก

สายฟ้าแลบที่กระจายตัวอยู่ทั่วกลุ่มพายุหมุนบนดาวพฤหัสบดีมีความคล้ายคลึงกับที่เกิดบนโลก
สายฟ้าแลบที่กระจายตัวอยู่ทั่วกลุ่มพายุหมุนบนดาวพฤหัสบดีมีความคล้ายคลึงกับที่เกิดบนโลก

ปรากฏการณ์ฟ้าแลบในพายุหมุนบนดาวพฤหัสบดี (Jovian Lightning) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เคยสันนิษฐานว่ามีความแตกต่างจากฟ้าแลบในพายุฝนฟ้าคะนองบนโลก ได้รับการพิสูจน์จากข้อมูลล่าสุดที่ยานสำรวจอวกาศจูโน (Juno) ส่งกลับมาแล้วว่า ต่างก็มีคุณสมบัติในการแผ่คลื่นวิทยุย่านความถี่ระดับเมกะเฮิรตซ์ได้เหมือนกัน

รายงานการวิจัยสองฉบับที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ยืนยันถึงการค้นพบดังกล่าว โดยรายงานผลการศึกษาฉบับที่จัดทำโดยทีมนักดาราศาสตร์ขององค์การนาซาระบุว่า ข้อมูลเก่าเกี่ยวกับสายฟ้าแลบบนดาวพฤหัสบดี ซึ่งส่งมาจากยานวอยเอเจอร์ 1 เมื่อปี 1979 นั้น ทำให้ผู้เชี่ยวชาญคิดไปว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวแตกต่างจากที่เกิดขึ้นบนโลก เนื่องจากพบว่าเกิดฟ้าแลบในกลุ่มพายุหมุนบนดาวพฤหัสบดีน้อยครั้ง ทั้งยังส่งคลื่นวิทยุออกมาเพียงในย่านความถี่ระดับกิโลเฮิรตซ์เท่านั้น

ยานสำรวจอวกาศจูโนเดินทางถึงดาวพฤหัสบดีเมื่อเดือน ก.ค. ปี 2016

การค้นพบนี้ได้รับการสนับสนุนจากรายงานการวิจัยอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งจัดทำโดยทีมนักดาราศาสตร์จากสถาบันเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์แห่งสาธารณรัฐเช็ก โดยดร.อิวานา โคลมาโซวา ผู้นำทีมวิจัยระบุว่า ผลการวิเคราะห์ข้อมูลคลื่นวิทยุความถี่ต่ำที่ส่งออกมาเป็นเสียงหวีดหวิวคล้ายคนผิวปาก (Whistlers) โดยรอบดาวพฤหัสบดีนั้น เป็นตัวบ่งชี้ว่าเกิดฟ้าแลบบนดาวพฤหัสบดีมากครั้งในอัตราใกล้เคียงกับที่เกิดขึ้นบนโลก

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยจากสาธารณรัฐเช็กชี้ว่า ปรากฎการณ์ฟ้าแลบบนดาวพฤหัสบดีมักเกิดขึ้นที่ขั้วเหนือของดาวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งต่างจากบนโลกที่พายุฝนฟ้าคะนองมักเกิดขึ้นบริเวณเส้นศูนย์สูตร

"กลุ่มก๊าซที่อุ่นและชื้นจากด้านในของดาวพฤหัสบดีถูกผลักให้ลอยขึ้นไปด้านบนที่ขั้วเหนือของดาว ในขณะที่ปฏิกิริยาทางไฟฟ้าระหว่างละอองน้ำและอนุภาคน้ำแข็งในกลุ่มก๊าซดังกล่าวทำให้เกิดสายฟ้าแลบขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นกลไกที่คล้ายกันกับการเกิดฟ้าแลบบนโลก" ดร.โคลมาโซวา กล่าว