หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

นักวิทยาศาสตร์พบ "ดาวเคราะห์น้อยโทรจัน" ดวงใหม่เคลื่อนที่ในวงโคจรเดียวกับโลก

นักวิทยาศาสตร์พบ "ดาวเคราะห์น้อยโทรจัน" ดวงใหม่เคลื่อนที่ในวงโคจรเดียวกับโลก

ดาวเคราะห์น้อย 2020 XL5 เคลื่อนที่ในวงโคจรเดียวกับโลก

โลกกำลังถูกติดตาม แต่ไม่ใช่จากจรวดหรือเอเลียน แต่เป็นดาวเคราะห์น้อย

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติยืนยันการค้นพบ "ดาวเคราะห์น้อยโทรจัน" (Trojan asteroid) ดวงใหม่ ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีลักษณะของวงโคจรและคาบการโคจรเหมือนกับโลก

ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีชื่อว่า 2020 XL5 และถือเป็น "โทรจัน" ดวงที่ 2 ที่ถูกค้นพบว่ามีวงโคจรเดียวกับโลก

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า มนุษย์อาจสามารถไปสำรวจดาวดวงนี้ เพื่อตั้งฐานที่มั่น และทำการศึกษาเรื่องระบบสุริยะ หรือใช้เป็นแหล่งทรัพยากรได้ในอนาคต

ดาวเคราะห์น้อย 2020 XL5 ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2020 แต่นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลในอดีต และการเฝ้าสังเกตการณ์จากโลก เพื่อให้แน่ใจว่ามันคือโทรจันของโลก
ดาวเคราะห์น้อยโทรจัน เป็นดาวที่มีวงโคจรเดียวกับดาวเคราะห์ขนาดใหญ่กว่า ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงโลก โดยจะมีวงโคจรที่แน่นอนอยู่ด้านหน้า หรือด้านหลังของดาวเคราะห์ที่ใหญ่กว่า

ที่ผ่านมามีการพบโทรจันของดาวเคราะห์อื่นหลายครั้ง แต่พบโทรจันของโลกเพียงครั้งเดียวในปี 2011 ซึ่งมีชื่อว่า 2010 TK7

Presentational grey line
ทำไมจึงเรียกว่า ดาวเคราะห์น้อยโทรจัน
ชื่อนี้ถูกบัญญัติขึ้นครั้งแรกตอนที่มีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยชนิดนี้เคลื่อนที่ในวงโคจรเดียวกับดาวพฤหัสบดี โดยชื่อ "โทรจัน" มาจากเรื่องสงครามกรุงทรอยในตำนานเทพเจ้ากรีกโบราณ

โทรจัน ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในระบบสุริยะ คือดาวเคราะห์น้อยที่โคจรอยู่รอบจุดลากรานจ์ของดาวพฤหัสบดี โดยมีการค้นพบกว่า 11,000 ดวง

ส่วนดาวเนปจูนมีโทรจัน 32 ดวง ดาวอังคารมี 9 ดวง และดาวยูเรนัสมี 1 ดวง

Presentational grey line
สำหรับโทรจันดวงใหม่ของโลกที่เพิ่งค้นพบ เป็นดาวเคราะห์น้อยประเภทคาร์บอน เพราะมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นธาตุคาร์บอน

ดาวเคราะห์น้อยชนิดนี้ถือเป็นหนึ่งในวัตถุเก่าแก่ที่สุดในระบบสุริยะของเรา โดยมีองค์ประกอบคล้ายกับดวงอาทิตย์ ซึ่งนี่หมายความว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้สามารถช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการกำเนิดของระบบสุริยะ และการก่อตัวของดาวเคราะห์ต่าง ๆ

เมื่อปีที่แล้ว ยาน Lucy ถูกส่งออกไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยโทรจันที่มีวงโคจรเดียวกับวงโคจรของดาวพฤหัสบดี ซึ่งมีโทรจันมากที่สุด
เมื่อปีที่แล้ว นาซาได้ส่งยานลูซี (Lucy) ออกไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยโทรจันที่มีวงโคจรเดียวกับวงโคจรของดาวพฤหัสบดี

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า โทรจันดวงใหม่ของโลกที่เพิ่งค้นพบนี้มีขนาดใหญ่กว่าดวงแรกที่ค้นพบเมื่อปี 2011 มาก และจะใช้พลังงานน้อยกว่าในการเดินทางไปสำรวจ

พวกเขาระบุว่า โทรจันดวงนี้จึงถือเป็นเป้าหมายที่เหมาะสมสำหรับภารกิจการสำรวจ และในอนาคตอาจสามารถใช้เป็นฐานของมนุษย์ หรือติดตั้งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ต่าง ๆ และพวกเขาจะมีเวลาเหลือเฟือที่จะศึกษามัน เพราะเชื่อว่าโทรจันดวงนี้จะอยู่ในวงโคจรปัจจุบันต่อไปอีก 4,000 ปี

ซีซาร์ บริเซโย นักดาราศาสตร์จากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ออปติคอลและอินฟราเรดแห่งชาติของสหรัฐฯ ระบุว่า ถ้าเราค้นพบโทรจันของโลกได้เพิ่มขึ้น และบางดวงมีความเอียงของวงโคจรต่ำ ก็อาจช่วยให้การเดินทางไปสำรวจมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการไปสำรวจดวงจันทร์

"ดังนั้นพวกมันจึงอาจเป็นฐานที่เหมาะสมในการสำรวจระบบสุริยะ หรืออาจเป็นแหล่งทรัพยากรได้"