หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2565

นักวิทยาศาสตร์เอ็มไอทีออกแบบ “จานบิน” เพื่อใช้สำรวจพื้นผิวขรุขระบนดวงจันทร์-ดาวเคราะห์น้อย


ภาพจำลอง "จานบิน" ที่ออกแบบโดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเชตส์ (MIT)

ทีมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรด้านการบินในอวกาศ จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเชตส์ (MIT) ของสหรัฐฯ ได้ออกแบบยานบินสำรวจเหนือบริเวณที่มีพื้นผิวขรุขระของต่างดาว เช่นพื้นผิวบนดวงจันทร์หรือดาวเคราะห์น้อย โดยยานที่คล้ายกับจานบินของเอเลียนในภาพยนตร์นี้ สามารถยกตัวลอยเหนือพื้นได้แม้ไม่มีอากาศอยู่เลย

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Spacecraft and Rockets ระบุว่าจานบินดังกล่าวใช้พลังงานจากสนามไฟฟ้า ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อยามที่แสงอาทิตย์ส่องมาโดนตัวยานหรือสัมผัสเข้ากับพลาสมาพลังงานสูงจากลมสุริยะ โดยประจุไฟฟ้าจะช่วยยกจานบินให้ลอยขึ้นเหนือพื้นได้ เช่นเดียวกับที่สามารถทำให้ฝุ่นผงบนพื้นผิวดวงจันทร์ลอยขึ้นสูงได้กว่า 1 เมตร

ตัวยานทำจากวัสดุที่เรียกว่าไมลาร์ (Mylar) ซึ่งจะกักเก็บประจุไฟฟ้าไว้เมื่อโดนแสงอาทิตย์ ทั้งยังปล่อยลำไอออนขนาดเล็กเพื่อชาร์จพลังงานและเพิ่มประจุไฟฟ้าธรรมชาติที่พื้นผิวดาว ซึ่งจะช่วยต้านแรงโน้มถ่วง

ทีมผู้คิดค้นและพัฒนาจานบินนี้บอกว่า พื้นผิวที่ขรุขระของดวงจันทร์หรือดาวเคราะห์น้อยนั้น เหมาะที่จะใช้ยานบินสำรวจมากกว่ารถหรือหุ่นยนต์ตระเวนสำรวจภาคพื้นดิน ซึ่งมีความเสี่ยงจะพบอุปสรรคติดขัดในการเคลื่อนตัวหรือเกิดความเสียหายได้ง่าย

สำหรับเครื่องยนต์ขับดันไอออนของจานบินนี้เป็นชนิดที่เรียกว่า ionic-liquid ion source ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่ใช้ขับดันดาวเทียมให้เคลื่อนไปในห้วงอวกาศ โดยเชื้อเพลิงที่เป็นเกลือหลอมละลายนั้นจะปล่อยลำไอออนออกมา เมื่อสัมผัสกับประจุไฟฟ้า

พื้นผิวที่ขรุขระของดาวเคราะห์น้อยริวงู (Ryugu) เหมาะที่จะใช้ยานบินสำรวจมากกว่ารถสำรวจ
การคำนวณด้วยแบบจำลองคอมพิวเตอร์และการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่า แนวคิดนี้มีความเป็นไปได้อยู่จริง โดยการทดลองกับจานบินต้นแบบขนาดเท่าฝ่ามือที่มีน้ำหนักราว 60 กรัม สามารถสร้างพลังไฟฟ้าสถิตที่ยกจานบินให้ลอยขึ้นได้ ซึ่งในความเป็นจริงจะต้องใช้พลังงานดังกล่าวมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของดาวเคราะห์หรือดาวเคราะห์น้อยที่จะทำการสำรวจ

ทีมนักวิจัยของเอ็มไอทีคาดว่า จานบินสำรวจต่างดาวลำนี้จะมีต้นทุนต่ำและประหยัดพลังงาน ซึ่งก็ยังคงจะต้องใช้เวลาปรับปรุงและพัฒนาต้นแบบต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้สอดรับกับการใช้งานในสถานการณ์จริงได้มากที่สุด