Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ชีวิตมนุษย์จะเผชิญกับความแปลกประหลาดอย่างน้อย 8 ประการ หากโลกกลมเปลี่ยนเป็นโลกแบน


หนึ่งในทฤษฎีสมคบคิดที่โด่งดังมากที่สุดในปัจจุบัน เห็นจะได้แก่ความเชื่อเรื่องโลกแบน ซึ่งมีผู้คนจำนวนไม่น้อยในหลายประเทศปักใจเชื่อว่า โลกของเราไม่ได้เป็นทรงกลมตามที่นักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ไว้ แต่แบนราบเหมือนจานหรือแผ่นดิสก์ ตามที่คัมภีร์เก่าแก่ทางศาสนาได้ระบุไว้ต่างหาก

แม้นักปราชญ์ชาวกรีกจะสามารถพิสูจน์ได้ตั้งแต่ 300 ปีก่อนคริสตกาลแล้วว่า โลกมีสัณฐานเป็นทรงกลมและยังทราบขนาดของเส้นรอบวงอีกด้วย แต่ชาวสมาคมโลกแบนกลับรื้อฟื้นความเชื่อแบบโบราณขึ้นมาอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 1950 โดยกลุ่มคนเหล่านี้มีความเคลื่อนไหวมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ตามแนวคิดโลกแบนนั้น จุดศูนย์กลางของโลกอยู่ที่ขั้วโลกเหนือ ส่วนทวีปแอนตาร์กติกาซึ่งควรจะเป็นที่ตั้งของขั้วโลกใต้ กลับมีลักษณะเป็นกำแพงน้ำแข็งล้อมรอบขอบโลกเอาไว้ จึงยังไม่เคยมีนักเดินทางคนใดตกขอบโลกตาย ท้องฟ้าด้านบนของโลกที่แบนราบมีดวงอาทิตย์และดวงจันทร์โคจรวนรอบกันและกัน โดยโลกไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโคจรของดวงดาวในระบบสุริยะนี้เลย ทำให้น่าสงสัยว่าหากโลกมีรูปทรงเป็นจานแบนตามที่กล่าวมานี้จริง จะเกิดอะไรขึ้น ?

1. โลกไร้แรงโน้มถ่วง

ในโลกที่เป็นทรงกลม แรงโน้มถ่วงจะกระทำต่อวัตถุทุกสิ่งและมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยจะยึดเราไว้กับพื้นในแนวตั้ง ไม่ว่าจะอยู่ ณ ตำแหน่งใดบนโลก แต่หากโลกสามารถเป็นทรงแบนได้ นั่นย่อมแสดงว่าแรงโน้มถ่วงไม่มีอยู่ เพราะแรงโน้มถ่วงที่มีทิศทางเข้าหาใจกลางโลกจะดึงให้โลกเป็นทรงกลมอยู่เสมอ

ชาวโลกแบนบางคนอาจบอกว่า แรงโน้มถ่วงในแบบของเขามีทิศทางพุ่งเข้าหาขั้วโลกเหนือที่ตรงกลางจานแบน แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง แรงโน้มถ่วงจะกระทำต่อทุกสิ่งในแนวราบ และยิ่งอยู่ห่างออกไปจากขั้วโลกเหนือมากเท่าไหร่ วัตถุจะยิ่งถูกดึงให้เอนราบลงมากเท่านั้น ซึ่งจะทำให้เราตั้งตัวตรงไม่ได้อีกต่อไป

2. โลกขาดชั้นบรรยากาศ

เมื่อขาดแรงโน้มถ่วงเสียแล้ว โลกทรงแบนก็ไม่อาจจะยึดเหนี่ยวชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกเอาไว้ได้ นั่นหมายความว่าท้องฟ้าจะมืดดำในทันที เพราะไม่มีก๊าซที่ช่วยกระเจิงแสงอาทิตย์ให้ท้องฟ้าดูสว่างไสว และสามารถมองเห็นเป็นสีฟ้าสดใสได้ในเวลากลางวัน

เมื่อไม่มีชั้นบรรยากาศ สิ่งมีชีวิตย่อมขาดอากาศหายใจ แรงดันบรรยากาศบนโลกก็จะหมดลง ทำให้จุดเดือดของน้ำต่ำลงมากตามไปด้วย ดังนั้นแหล่งน้ำต่าง ๆ และน้ำที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายจะระเหยหายไปในชั่วพริบตา

3. สภาพอากาศแบบพิสดาร

หากแรงโน้มถ่วงแบบโลกแบนมีทิศทางพุ่งเข้าหาศูนย์กลางที่ขั้วโลกเหนือ ฝนจะไม่ตกลงมาถึงพื้นดินในแนวตรงอีกต่อไป แต่จะตกในแนวเฉียงและลงแตะพื้นที่ตรงกลางจานแบนเท่านั้น นั่นหมายความว่าสภาพอากาศตามปกติของโลกทรงกลมทุกวันนี้ จะเกิดขึ้นบนโลกแบนเฉพาะที่บริเวณใจกลางเท่านั้น ในขณะที่บริเวณรอบนอกจะไม่มีน้ำอยู่เลย

4. หลงทิศหลงทางกันทั้งโลก

โลกที่มีรูปทรงแบนนั้นไม่เปิดทางให้สิ่งใดสามารถโคจรวนรอบมันได้ จึงเป็นไปได้สูงว่ามนุษย์จะไม่มีดาวเทียมไว้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นดาวเทียมสำหรับการสื่อสารโทรคมนาคม หรือดาวเทียมนำร่องที่ช่วยบอกพิกัดภูมิศาสตร์บนโลก ดังนั้นผู้คนที่อยู่กันบนโลกทรงแบนอาจหลงทิศหลงทางได้ง่าย เพราะจะไม่มีอุปกรณ์จีพีเอสใช้นั่นเอง

5. การเดินทางไปสถานที่บางแห่งจะไม่มีวันถึงจุดหมาย

การเดินทางบนโลกแบนที่ถูกจำกัดด้วยสภาพภูมิศาสตร์ จะกินเวลายาวนานขึ้นกว่าบนโลกทรงกลมอย่างมาก เพราะเราไม่สามารถนั่งเครื่องบินและใช้ทางลัดที่ใกล้ที่สุดตัดตรงไปยังจุดหมายปลายทางได้ เช่นการเดินทางจากประเทศออสเตรเลียไปยังสถานีวิจัยบนทวีปแอนตาร์กติกา หากโลกแบนเสียแล้วการเดินทางนี้จะกินเวลายาวนานมาก เพราะต้องบินข้ามแถบอาร์กติกทั้งหมด รวมทั้งภูมิภาคอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ด้วย

6. ไม่มีแสงเหนือและเราจะถูกย่างจนไหม้เกรียม

กระแสเหล็กหลอมละลายที่ไหลวนอยู่ในแก่นโลกทรงกลมนั้น ทำให้เรามีสนามแม่เหล็กโลกเป็นเกราะป้องกันอันตรายจากรังสีในห้วงอวกาศและลมสุริยะ หากโลกกลายเป็นทรงแบนเสียแล้ว การไหลวนของโลหะหลอมเหลวที่ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กโลกย่อมไม่มีอยู่ ผลอันเลวร้ายที่ตามมาก็คือสรรพชีวิตจะถูกเผาไหม้ รวมทั้งปรากฏการณ์แสงเหนือหรือออโรร่าที่สวยงาม ซึ่งเกิดจากอนุภาคมีประจุชนเข้ากับสนามแม่เหล็กโลก ก็จะไม่มีอีกต่อไปด้วย

7. ท้องฟ้ายามราตรีไม่อาจแบ่งเป็นซีกโลกเหนือและใต้

เมื่อมนุษย์ในโลกทรงกลมสังเกตดูท้องฟ้ายามค่ำคืน พวกเขาจะพบว่าการมองเห็นกลุ่มดาวต่าง ๆ นั้น ผิดแผกกันออกไประหว่างคนที่อยู่ในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ แต่สำหรับการดูดาวบนโลกที่เป็นทรงแบนแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด เพราะคนทั้งโลกจะมองเห็นท้องฟ้าแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะอยู่ ณ ตำแหน่งใด

8. โลกปลอดพายุเฮอริเคน



การที่โลกทรงกลมหมุนรอบตัวเอง ทำให้เกิดปรากฏการณ์คอริออลิส (Coriolis effect) ซึ่งส่งผลต่อทิศทางของลมพายุพลังทำลายล้างสูงอย่างเฮอริเคน ไต้ฝุ่น หรือไซโคลน โดยปรากฏการณ์นี้จะทำให้พายุในซีกโลกเหนือหมุนและเคลื่อนที่ไปทางซ้ายแบบทวนเข็มนาฬิกา ในขณะที่พายุในซีกโลกใต้จะหมุนและเคลื่อนที่ไปในทิศทางตรงข้าม แต่หากโลกของเราเป็นทรงแบนเสียแล้ว พายุหมุนที่น่ากลัวเหล่านี้ก็จะไม่มีอีกต่อไป

รายการบล็อกของฉัน