หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2564

โลกไร้แสงเหนือแต่มี "แสงเส้นศูนย์สูตร" เมื่อ 41,000 ปีก่อน หลังสนามแม่เหล็กโลกเปลี่ยนแปลง


แสงเหนือเกิดจากอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ ถูกขั้วแม่เหล็กโลกดึงดูดให้เข้าทำปฏิกิริยากับก๊าซในชั้นบรรยากาศ

เหตุการณ์ลาส์ชอมป์ (Laschamps Event) หรือการที่สนามแม่เหล็กโลกอ่อนแรงลงจนเกิดการกลับขั้วในช่วงสั้น ๆ เมื่อราว 41,000 - 42,000 ปีก่อน อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมโลกและปรากฏการณ์ธรรมชาติมากกว่าที่เคยคิดกันไว้

นอกจากเหตุการณ์นี้อาจทำให้โลกเผชิญวิกฤตทางภูมิอากาศ จนสิ่งมีชีวิตหลายชนิดซึ่งอาจรวมถึงมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลต้องสูญพันธุ์ไปแล้ว เหตุการณ์ลาส์ชอมป์ยังสามารถเคลื่อนย้ายแสงเหนือหรือ aurora borealis รวมทั้งแสงใต้หรือ aurora australis ให้มาปรากฏที่แถบเส้นศูนย์สูตรได้อีกด้วย

มีการรายงานถึงผลการศึกษาดังกล่าว ในที่ประชุมสหภาพธรณีฟิสิกส์อเมริกัน (AGU) เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยนายอกนิษฐ์ มุโขปัทยาย นักศึกษาวิจัยระดับปริญญาเอกชาวอินเดีย จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน วิทยาเขตแอนอาร์เบอร์ของสหรัฐฯ ได้นำเสนอผลวิเคราะห์ข้อมูลจากร่องรอยการกลับขั้วแม่เหล็กโลก ซึ่งพบในชั้นหินโบราณและประวัติความเคลื่อนไหวของภูเขาไฟในอดีต แล้วนำมาประมวลกับแบบจำลองการเกิดแสงเหนือในคอมพิวเตอร์

ผลคำนวณที่ได้พบว่าเมื่อ 41,000 ปีที่แล้ว สนามแม่เหล็กโลกอ่อนแรงลงจนเหลือเพียง 4% ของระดับความแข็งแกร่งในปัจจุบัน ส่งผลให้ผิวโลกด้านที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์ในเวลากลางวันและต้องเผชิญกับแรงต้านจากลมสุริยะโดยตรง ไม่มีสนามแม่เหล็กโลกปกคลุมอยู่อีกต่อไป
ตามปกติแล้วแสงเหนือและแสงใต้ จะมีอยู่บนท้องฟ้าแถบใกล้กับขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้เท่านั้น

ส่วนขั้วแม่เหล็กโลกที่เคยวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ก็กลับเบี่ยงตัวเอนไปจากตำแหน่งเดิมอย่างมาก จนขั้วทั้งสองลงมาอยู่ใกล้กับแถบเส้นศูนย์สูตรของโลกในทุกวันนี้ ส่งผลให้เกิดการดึงดูดอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์เข้าปะทะกับก๊าซในชั้นบรรยากาศโลกที่ตำแหน่งใหม่ จนเกิดเป็นแสงเรืองรองบนท้องฟ้าของเขตร้อนที่อาจเรียกได้ว่า "แสงเส้นศูนย์สูตร" ซึ่งมาแทนที่แสงเหนือและแสงใต้ในยุคดังกล่าว

ผู้วิจัยยังระบุว่า การกลับขั้วแม่เหล็กโลกระยะสั้นระหว่างเกิดเหตุการณ์ลาส์ชอมป์ ใช้เวลาประมาณ 1,300 ปีในการกลับคืนสู่สภาพเดิม ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าในระหว่างนั้น รังสีอันตรายจากห้วงอวกาศ รวมทั้งอนุภาคพลังงานสูงในลมสุริยะ จะสามารถเข้าถึงพื้นผิวโลกได้อย่างรุนแรงและทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากโลกขาดสนามแม่เหล็กที่เป็นเกราะป้องกันไปเกือบทั้งหมด

ก่อนหน้านี้งานวิจัยคาร์บอนกัมมันตรังสีหรือคาร์บอน-14 ในวงปีของซากฟอสซิลต้นไม้โบราณ ซึ่งจัดทำโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียและลงตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อช่วงต้นปี 2021 ได้บ่งชี้เช่นกันว่า เหตุการณ์ลาส์ชอมป์มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับวิกฤตด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลกในเวลานั้น