หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เอเลียนอาจติดตั้งโครงสร้างยักษ์ดึงพลังงานจากหลุมดำ โดยที่มนุษย์สามารถตรวจพบได้

เอเลียนอาจติดตั้งโครงสร้างยักษ์ดึงพลังงานจากหลุมดำ โดยที่มนุษย์สามารถตรวจพบได้

ค้นหา ภาพจำลอง Dyson sphere จากจินตนาการของศิลปิน

ทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติชิงหวาของไต้หวัน ซึ่งกำลังมุ่งค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากต่างดาว ได้เสนอวิธีการใหม่ที่อาจช่วยให้พบร่องรอยของเอเลียนที่มีอารยธรรมและเทคโนโลยีในระดับสูงได้ ผ่านการมองหาโครงสร้างยักษ์ "ไดสันสเฟียร์" (Dyson sphere) ที่เอเลียนอาจสร้างไว้รอบหลุมดำเพื่อเก็บเกี่ยวพลังงานมหาศาลไปใช้

รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารรายเดือนของราชสมาคมดาราศาสตร์อังกฤษ (MNRAS) ระบุว่ามนุษย์สามารถจะติดตามสังเกตการณ์หลุมดำหลายแบบ ตั้งแต่หลุมดำดาวฤกษ์ (stellar black hole) ที่มีขนาดย่อม ไปจนถึงหลุมดำมวลยิ่งยวดที่ใจกลางดาราจักร เพื่อตรวจจับความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่ชี้ว่ามีไดสันสเฟียร์อยู่โดยรอบหลุมดำนั้นได้

แนวคิดเรื่องโครงสร้างขนาดยักษ์ที่สร้างขึ้นล้อมรอบดาวฤกษ์ เพื่อดึงพลังงานมหาศาลมาใช้โดยตรงนั้น เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 โดยฟรีแมน ไดสัน นักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวอเมริกันเป็นผู้เสนอว่า โครงสร้างยักษ์ดังกล่าวถือเป็นทางออกหนึ่งเมื่อแหล่งพลังงานภายในโลกไม่เพียงพอต่อความต้องการของอารยธรรมที่มีเทคโนโลยีพัฒนาสูงขึ้น 

ทีมนักดาราศาสตร์จากไต้หวันจึงสร้างสมมติฐานจากแนวคิดของไดสันว่า มนุษย์ต่างดาวที่มีอารยธรรมและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีระดับสูง น่าจะติดตั้งโครงสร้างยักษ์แบบไดสันสเฟียร์รอบแหล่งพลังงานต่าง ๆ ในจักรวาล โดยอารยธรรมต่างดาวที่อยู่ในระดับสูงมาก ก็อาจต้องการพลังงานมากกว่าที่ได้จากดาวฤกษ์ของตนเอง ซึ่งทำให้หลุมดำเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจในการค้นหาร่องรอยของเอเลียนไปด้วย

เนื้อหาของรายงานวิจัยได้อธิบายไว้ว่า "แม้หลุมดำจะดูดกลืนทุกสิ่งทั้งสสารและพลังงานที่ตกลงไป แต่หลุมดำก็ปลดปล่อยพลังงานมหาศาลเป็นครั้งคราว ทั้งแสงสว่างและความร้อนหลายล้านองศาเซลเซียสจากจานพอกพูนมวล รวมทั้งพลาสมาแม่เหล็กพลังงานสูงจากชั้นโคโรนา และการปะทุไอพ่นเป็นลำไอออนความเร็วสูงเกือบเท่าแสง"


หลุมดำสามารถปลดปล่อยพลังงานมหาศาลได้ในหลายรูปแบบ

"แม้แต่แสงสว่างจากจานพอกพูนมวลของหลุมดำขนาดเล็ก ซึ่งมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์เพียง 5 เท่า ก็ยังเจิดจ้ายิ่งกว่าแสงสว่างของดาวฤกษ์ทั่วไปหลายร้อยเท่า" "จากการใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ของเราทดสอบสมมติฐานนี้ พบว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากที่เอเลียนจะใช้งานไดสันสเฟียร์ โดยสามารถเก็บเกี่ยวพลังงานที่ให้แสงสว่างได้มากยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ของเรานับแสนเท่า" ทีมผู้วิจัยกล่าว

หากเอเลียนได้สร้างไดสันสเฟียร์มาเก็บเกี่ยวพลังงานจากหลุมดำไปจริง ทีมผู้วิจัยชี้ว่ามนุษย์จะสามารถตรวจพบรังสีอินฟราเรดที่มีเอกลักษณ์พิเศษ ซึ่งหลุดรอดออกจากไดสันสเฟียร์ที่กำลังดึงและแปลงพลังงานของหลุมดำอยู่ได้ ทั้งยังสามารถตรวจพบสัญญาณดังกล่าวได้ในหลายย่านความยาวคลื่นอีกด้วย 
โดยจะต้องมีการพัฒนาเครื่องมือตรวจจับที่สามารถแยกแยะสัญญาณดังกล่าวออกจากการแผ่รังสีหลายชนิดของหลุมดำให้ได้ต่อไป