หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

นักวิทย์พบ หลุมอุกกาบาตเก่าแก่ที่สุดในโลกคาดเชื่อมโยง จุดสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง’


นักวิทย์พบ ‘หลุมอุกกาบาตเก่าแก่ที่สุดในโลก’ คาดเชื่อมโยง ‘จุดสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง’
ค้นหา
— หลุมอุกกาบาตแห่งหนึ่งในเขตชนบทห่างไกลของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย (Western Australia) ได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นหลุมอุกกาบาตที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยงานวิจัยฉบับใหม่ที่ออกเมื่อวันพุธ (22 ม.ค.) เปิดเผยว่าดาวเคราะห์น้อยได้พุ่งชนผิวโลกบริเวณดังกล่าวเมื่อ 2.229 พันล้านปีก่อน นานกว่าหลุมอุกกบาตที่เก่าแก่ที่สุดที่พบก่อนหน้านี้ถึง 200 ล้านปี

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากคณะธรณีศาสตร์และวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ มหาวิทยาลัยเคอร์ทิน (Curtin) ร่วมกับองค์การนาซา (NASA) ใช้วิธีวิเคราะห์แร่ธาตุแบบไอโซโทป (Isotopic analysis) ในการคำนวณอายุของหลุมอุกกาบาตแห่งนี้ที่มีชื่อว่า “ยาร์ราบับบา” (Yarrabubba) ก่อนเปิดเผยว่าเหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนจนทำให้เกิดหลุมยักษ์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 70 กม. นั้น เกิดขึ้นในสภาพภูมิประเทศที่ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง และส่งผลให้น้ำแข็งปริมาณมหาศาลระเหยสู่ชั้นบรรยากาศ

ศาสตราจารย์คริส เคิร์กแลนด์ (Chris Kirkland) ผู้ร่วมวิจัยในโครงการ ระบุว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจเป็นตัวเร่งสิ่งที่เรียกว่า “การละลายครั้งใหญ่” ใน “ยุคโลกบอลหิมะ” (Snowball Earth) ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานวิวัฒนาการระยะหนึ่งของโลก

“หลุมอุกกาบาตยาร์ราบับบาซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองแซนด์สโตน (Sandstone) และเมืองมีคาร์ธาร์รา (Meekatharra) บริเวณตอนกลางของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เป็นที่ทราบมานานหลายปีแล้วว่าเป็นหลุมอุกกาบาต แต่ยังไม่สามารถระบุอายุที่แน่นอนได้” เคิร์กแลนด์กล่าว

“ตอนนี้เรารู้แล้วว่าหลุมอุกกาบาตยาร์ราบับบาเกิดขึ้นในช่วงท้ายของปรากฎการณ์ยุคโลกบอลหิมะตอนต้น หรือช่วงที่ชั้นบรรยากาศและมหาสมุทรกำลังเปลี่ยนแปลงและมีออกซิเจนมากขึ้น และเป็นช่วงที่ทวีปต่างๆ อยู่ในระยะที่เป็นน้ำแข็ง”

รองศาสตราจารย์นิโคลัส ทิมส์ (Nicholas Timms) ผู้เขียนนำของงานวิจัย ตั้งข้อสังเกตว่าไม่น่าใช่เรื่องบังเอิญที่เหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกที่ยาร์ราบับบา จะประจวบกันพอดีกับช่วงเวลาที่น้ำแข็งละลายไป
“อายุของหลุมอุกกาบาตยาร์ราบับบาตรงกับช่วงที่น้ำแข็งยุคโบราณสลายไปพอดี” เขากล่าว

นอกจากนี้การสร้างแบบจำลองเชิงตัวเลขยังสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างผลที่เกิดขึ้นกับผืนน้ำแข็งและและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก ซึ่งสืบเนื่องจากเหตุการณ์อุกกาบาตพุ่งชนโลกครั้งใหญ่ต่างๆ โดยทิมส์ระบุว่า “การคำนวณชี้ว่า การพุ่งชนผืนทวีปที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งของอุกกาบาต อาจทำให้เกิดไอน้ำ 5 แสนล้านตันฟุ้งกระจายสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ”

“การค้นพบดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่าการพุ่งชนของอุกกาบาตอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ยุติยุคน้ำแข็งหรือไม่” ทิมส์ทิ้งท้าย