หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

นาซาเตือน แม้แต่ระเบิดนิวเคลียร์ ก็ไม่อาจหยุดดาวเคราะห์น้อยที่จะชนโลก



นาซาเตือน แม้แต่ระเบิดนิวเคลียร์ ก็ไม่อาจหยุดดาวเคราะห์น้อยที่จะชนโลก

นาซาเตือน แม้แต่ระเบิดนิวเคลียร์ ก็ไม่สามารถหยุดดาวเคราะห์น้อยที่จะมุ่งหน้ามายังโลกได้ หลังทดลองจำลองเหตุการณ์ มีเวลา 6 เดือน หาทางปกป้องโลกจากการถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชน

เมื่อ 4 พ.ค.64 เดลี่เมลรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) ได้ข้อสรุปจากการทดลองจำลองเหตุการณ์เพื่อหาวิธีปกป้องโลกของเรา จากการถูกดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์พุ่งชนโลกว่า ถึงแม้จะใช้ระเบิดนิวเคลียร์ ก็ไม่สามารถจะหยุดยั้งดาวเคราะห์น้อยที่จะพุ่งชนโลกได้ 

การจำลองเหตุการณ์ เริ่มจากนักวิทยาศาสตร์นาซาได้รับการแจ้งว่าพวกเขามีเวลา 6 เดือนในการหาทางสกัดไม่ให้ดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์ซึ่งมีวงโคจรที่จะพุ่งชนโลก หลังจากได้สำรวจพบดาวเคราะห์น้อยกำลังอยู่ในระยะห่างจากโลก 35 ล้านไมล์

จากการศึกษาเพื่อหาทางสกัดดาวเคราะห์น้อย โดยใช้เวลา 4 วัน ระหว่างวันที่ 26-29 เมษายน และนักดาราศาสตร์ได้ใช้ระบบเรดาร์ ข้อมูลภาพและเทคโนโลยีหลายอย่าง รวมทั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ จนได้ข้อสรุปว่า ระยะเวลา 6 เดือน ไม่เพียงพอที่จะเตรียมตัวสำหรับการส่งยานอวกาศขึ้นไปพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย รวมถึงการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ อย่างเช่นที่เห็นในภาพยนตร์เรื่องอาร์มาเกดดอน ก็ไม่อาจหยุดยั้งดาวเคราะห์น้อยที่กำลังมุ่งหน้ามายังโลกได้

สำหรับโครงการจำลองเหตุการณ์ทดสอบการหาทางหยุดยั้งดาวเคราะห์น้อยที่จะชนโลกของนาซานี้ ใช้ชื่อว่า 'Space Mission Options for the Hypothetical Asteroid Impact Scenario'

จำลองเหตุการณ์วันที่ 1 : 19 เมษายน 2021 นักวิทยาศาสตร์โครงการปกป้องโลกของนาซา ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย พบดาวเคราะห์น้อย ชื่อ 2021PDC ซึ่งจัดเป็นวัตถุใกล้โลก อยู่ในระยะห่างจากโลก 35 ล้านไมล์ และมีโอกาสที่จะชนโลกเพียงแค่ 5% ในวันที่ 20 ตุลาคม

จำลองเหตุการณ์วันที่ 2 : 2 พฤษภาคม 2021 นักดาราศาสตร์วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการรวบข้อมูลการโคจรของดาวเคราะห์น้อย และความเป็นไปได้ที่อาจจะชนโลก โดยทีมได้ใช้ข้อมูลภาพถ่ายเหตุการณ์ที่ดาวเคราะห์น้อยเคยเข้าใกล้โลก ในปี 2014

ข้อมูลนี้ทำให้นักดาราศาสตร์ลดวงโคจรที่ไม่แน่นอนของดาวเคราะห์น้อย และได้ข้อสรุปการจำลองเหตุการณ์นี้ว่า ดาวเคราะห์น้อยมีความเป็นไปได้ที่จะชนโลก 100% ในบริเวณยุโรป หรือตอนเหนือของทวีปแอฟริกา

จึงทำให้ทีมรีบทำงานเพื่อหาทางป้กองกันไม่ให้ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก การออกแบบให้ส่งยานอวกาศขึ้นไปพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย ก่อนที่มันจะชนโลก ได้ข้อสรุปว่า ด้วยระยะเวลาที่ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถที่จะปฏิบัติภารกิจอันเหลือเชื่อนี้ได้ ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ยังได้เสนอให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งมีอุปสรรคหลายอย่าง และจากการจำลองทดสอบเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าใช้อาวุธระเบิดนิวเคลียร์พุ่งชนดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่ราว 114 ฟุต จนถึง 800 เมตร จะสามารถทำลายดาวเคราะห์น้อยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น อีกทั้งก็ไม่แน่ชัดว่าระเบิดนิวเคลียร์ขนาดไหนจึงสามารถจะสกัดดาวเคราะห์น้อยได้

จำลองเหตุการณ์วันที่ 3 : 30 มิถุนายน 2021 การทดสอบกระโดดไปถึงเวลาที่โลกจะถูกดาวเคระห์น้อยพุ่งชน โดยนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่เฝ้าติดตามทุกคืน ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ได้ปรับแต่งวงโคจรให้แคบลงอย่างมีนัยสำคัญ มีความเป็นไปได้ที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลกแถวเยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก ออสเตรีย สโลเวเนีย และโครเอเชีย

จำลองเหตุการณ์วันที่ 4 : 14 ตุลาคม 2021 เหลือเพียงแค่ 6 วัน ดาวเคราะห์น้อยจะชนโลก โดยขณะนี้มันอยู่ห่างจากโลกประมาณ 3.9 ล้านไมล์ และมีระยะใกล้พอที่จะใช้ระบบ Goldstone Solar System Radar ในการวิเคราะห์ดาวเคราะห์น้อย ทั้งขนาดและลักษณะกายภาพ ซึ่งพบว่าดาวเคราะห์น้อยมีขนาดเล็กกว่าที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า จึงได้ลดขนาดพื้นที่ที่มีโอกาสจะถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนให้แคบลง เหลือเพียงบริเวณพรมแดนของเยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก และออสเตรีย และกำหนดให้ดาวเคราะห์น้อยมีความเป็นไปได้ที่จะพุ่งชนโลกในภูมิภาคแถวนี้ 99%
 

ลินด์ลีย์ จอห์นสัน เจ้าหน้าที่โครงการ Planetary Defense ของนาซา กล่าวว่า แต่ละครั้งที่ได้ร่วมทดสอบในเหตุการณ์ธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้นี้ ทำให้พวกเราได้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับว่า ใครจะเป็นตัวหลักในเวลาเกิดหายนะและใครจำเป็นต้องรู้ข้อมูล เพื่อช่วยในการหาทางปกป้องโลกของเราให้ได้มากที่สุด จากการถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชน