ห้องปฏิบัติการแห่งชาติโอกริดจ์ของสหรัฐฯ (Oak Ridge National Laboratory ) กำลังจะเริ่มทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของเอกภพคู่ขนาน (Parallel Universe) และค้นหาช่องทางที่เปิดประตูไปสู่เอกภพดังกล่าว ซึ่งอาจมีความคล้ายคลึงกับเอกภพของเราในทุกทางเหมือนภาพสะท้อนในกระจก
ดร. เลอาห์ บรูซซาร์ด ผู้นำทีมนักฟิสิกส์ในโครงการดังกล่าว ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีว่า แม้การทดลองในครั้งนี้จะฟังดูแปลกประหลาดเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ทีมของตนต้องการจะทดสอบถึงความเป็นไปได้ ในเรื่องที่อนุภาคมูลฐานของอะตอมอย่างนิวตรอน (Neutron) น่าจะสามารถเดินทางข้ามไปมาระหว่างเอกภพของเราและเอกภพคู่ขนานได้
การระเบิดขยายตัวครั้งใหญ่หรือเหตุการณ์บิ๊กแบงเมื่อ 14,000 ล้านปีก่อน นอกจากจะให้กำเนิดเอกภพหรือจักรวาลของเราแล้ว ยังให้กำเนิดพหุภพ (Multiverse) ซึ่งก็คือเอกภพอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากเอกภพของเราอีกเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน ซึ่งบางครั้งเรียกว่า "เอกภพคู่ขนาน"
ในพหุภพนั้นอาจมีเอกภพคู่ขนานที่มีองค์ประกอบต่าง ๆ เหมือนกับในเอกภพของเราแบบคู่แฝด เช่นมีอนุภาคมูลฐาน ดวงดาว หรือแม้กระทั่งสิ่งมีชีวิตและมนุษย์แต่ละคนเหมือนกัน คล้ายกับเป็นภาพสะท้อนในกระจก แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเอกภพคู่ขนานนั้นจะมีความเป็นไปได้แตกต่างออกไปจากเอกภพของเรานับไม่ถ้วนแบบ
ก่อนหน้านี้มีปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่อาจอธิบายได้อยู่หลายประเด็น ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ชี้ถึงความเป็นไปได้ที่เอกภพคู่ขนานจะมีอยู่จริง เช่นในกรณีที่เอกภพของเรามีไอโซโทปลิเทียม -7 อยู่น้อยกว่าปริมาณที่ควรจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์บิ๊กแบง หรือในกรณีของรังสีคอสมิกพลังงานสูงที่เดินทางมาจากนอกกาแล็กซี ซึ่งตรวจพบว่าทรงพลังรุนแรงเกินกว่าจะเดินทางอยู่แต่ภายในขอบเขตของเอกภพที่สังเกตได้ (Observable Universe)
ในช่วงทศวรรษ 1990 มีการทดลองจับเวลาที่อนุภาคนิวตรอนใช้ในการสลายตัวกลายเป็นโปรตอน หลังนิวตรอนถูกนำออกจากนิวเคลียสของอะตอม แต่ผลที่ได้หลังจากนั้นกลับผิดคาด เมื่อพบว่าเวลาที่นิวตรอนใช้ในการสลายตัวแต่ละครั้งนั้นไม่เท่ากันเสียทีเดียว นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถให้คำอธิบายต่อปรากฏการณ์นี้ได้ เว้นเสียแต่ว่ามีนิวตรอนบางส่วนที่เกิดหลุดเข้าไปในเอกภพคู่ขนานและกลายเป็นอนุภาคในเอกภพอื่นครู่หนึ่ง ก่อนที่จะกลับมาปรากฎตัวยังเอกภพของเราอีกครั้ง
คำบรรยายภาพ มีความเป็นไปได้ว่าเหตุการณ์บิ๊กแบงได้ให้กำเนิดเอกภพอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากเอกภพของเราด้วย
การทดลองครั้งล่าสุดที่ทีมนักฟิสิกส์ของสหรัฐฯ จะเริ่มเดินหน้าในเดือนนี้ จะใช้วิธียิงลำอนุภาคนิวตรอนไปยังกำแพงที่กั้นไม่ให้พวกมันผ่านไปได้ และจะติดตั้งเครื่องตรวจจับนิวตรอนไว้ที่ด้านหลังกำแพงดังกล่าว
ตามปกติแล้ว เครื่องตรวจจับอนุภาคนิวตรอนในการทดลองนี้จะต้องแสดงผลเป็นศูนย์ กล่าวคือไม่พบนิวตรอนทะลุผ่านกำแพงมาได้เลย แต่หากมีกรณีผิดปกติซึ่งพบว่ามีนิวตรอนหลุดลอดผ่านมาได้ ก็อาจเป็นเครื่องยืนยันว่าอนุภาคนั้นเกิดการ "สั่น" (Oscillating) จนสามารถข้ามเส้นแบ่งระหว่างเอกภพ ผ่านเข้าไปในเอกภพคู่ขนานและกลับออกมาได้
นอกจากนี้ ทีมผู้วิจัยยังจะติดตั้งสนามแม่เหล็กพลังสูงไว้ที่ข้างใดข้างหนึ่งของกำแพงในการทดลองแต่ละครั้ง และจะปรับความแรงของสนามแม่เหล็กให้แปรเปลี่ยนไปหลาย ๆ ระดับ เพราะคาดว่าอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้นิวตรอนเกิดการสั่นจนสามารถข้ามไปยังเอกภพอื่นได้
อย่างไรก็ตาม ดร. บรูซซาร์ดบอกว่าไม่ได้คาดหวังจะพบกับปรากฏการณ์ที่เปิดประตูสู่เอกภพคู่ขนานได้ทันทีในครั้งนี้ และคาดว่าผลการตรวจจับพฤติกรรมประหลาดของนิวตรอนจะเป็นศูนย์
"แต่หากเกิดมีการค้นพบอะไรใหม่ ๆ อย่างนั้นขึ้นมา โฉมหน้าของวงการฟิสิกส์จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเลยทีเดียว" ดร. บรูซซาร์ดกล่าว