แถบดาวเคราะห์น้อยและหินอวกาศรายล้อมอยู่รอบดาวเวกา (Vega)
อุกกาบาตชนิดหายากที่ตกลงมาจากท้องฟ้าเมื่อ 154 ปีก่อน กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยไขความลับเรื่องกำเนิดสิ่งมีชีวิตบนโลก และชี้ถึงความเป็นไปได้ว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตต่างดาวนอกระบบสุริยะด้วย
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ของสหราชอาณาจักร ตีพิมพ์ผลการศึกษาดังกล่าวในวารสาร PNAS โดยระบุว่าได้พบอุกกาบาตชนิด Carbonaceous chondrite ที่มีอายุเก่าแก่เท่ากับระบบสุริยะ หรือราว 4.5 พันล้านปี ซึ่งอุกกาบาตนี้ตกลงมาที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อกว่าหนึ่งศตวรรษก่อน
การที่อุกกาบาตดังกล่าวก่อตัวขึ้นพร้อมกับจุดเริ่มต้นของระบบสุริยะ ทั้งยังมีองค์ประกอบเป็นสารอินทรีย์สำคัญที่ให้กำเนิดชีวิตรวมอยู่ด้วย เช่น ออกซิเจน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน คาร์บอน และกำมะถัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทราบได้ว่าองค์ประกอบที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เกิดขึ้นในระบบสุริยะเอง โดยไม่ได้ล่องลอยมาจากกลุ่มดาวหรือดาราจักรอื่น ๆ
อุกกาบาตที่ตกในเมือง Orgueil ของฝรั่งเศส เมื่อปี 1864 มีอายุเก่าแก่ 4.5 พันล้านปีเท่ากับระบบสุริยะ
ดร. โรแมง ทาร์เทส หนึ่งในทีมผู้วิจัยบอกว่า การศึกษาไอโซโทปของออกซิเจนและสารอินทรีย์อื่น ๆ ที่พบในอุกกาบาตดังกล่าว ทำให้พบว่ามีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับชนิดของสารอินทรีย์ที่มีในดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ และดาวเคราะห์น้อยในระบบสุริยะด้วย
"หากสารอินทรีย์สามารถก่อตัวขึ้นได้ในกระบวนการให้กำเนิดระบบสุริยะ ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีองค์ประกอบของชีวิตเกิดขึ้นในระหว่างการก่อตัวระยะเริ่มแรกของระบบสุริยะอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากของเราด้วย" ดร. ทาร์เทสกล่าว
สำหรับอุกกาบาตที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้มีขนาดราว 15 เซนติเมตร ตกลงมาที่เมือง Orgueil ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสเมื่อปี 1864 ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติฝรั่งเศสว่าด้วยประวัติศาสตร์ธรรมชาติในกรุงปารีส และเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้จนถึงเดือนมกราคมปีหน้า