หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564

นาซาพบสัญญาณชี้ กำแพงไฮโดรเจนกั้นขอบเขตระบบสุริยะมีจริง

นาซาพบสัญญาณชี้ “กำแพงไฮโดรเจน” กั้นขอบเขตระบบสุริยะมีจริง

ภาพจากฝีมือศิลปินแสดงให้เห็นยาน New Horizons เข้าใกล้วัตถุที่คล้ายดาวพลูโตในแถบไคเปอร์อันห่างไกลของระบบสุริยะ

ยานสำรวจอวกาศนิวฮอไรซันส์ (New Horizons) ขององค์การนาซา ซึ่งขณะนี้อยู่ในบริเวณแถบไคเปอร์ (Kuiper belt) ที่เต็มไปด้วยดาวเคราะห์น้อยตรงรอบนอกของระบบสุริยะ แจ้งว่าพบสัญญาณรังสีอัลตราไวโอเลตที่ชี้ว่า "กำแพงไฮโดรเจน" ซึ่งเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ในอวกาศที่นักดาราศาสตร์ค้นหามานานน่าจะมีอยู่จริง

อุปกรณ์วัดรังสียูวี Alice UV spectrometer ที่ติดตั้งบนยานนิวฮอไรซันส์ ตรวจพบการส่องสว่างเป็นพิเศษของรังสีดังกล่าวใกล้แถบไคเปอร์ ซึ่งอาจเกิดจากการที่อนุภาคของแสงอาทิตย์หรือโฟตอนชนเข้ากับอะตอมของไฮโดรเจนปริมาณมหาศาล ที่สะสมตัวหนาแน่นจนเกิดเป็นเหมือนแนวกำแพงขึ้น

นักดาราศาสตร์คาดว่ากำแพงไฮโดรเจนนี้กั้นอยู่ตรงแนวที่เรียกว่าเฮลิโอพอส (Heliopause) อันถือว่าเป็นแนวสิ้นสุดขอบเขตของระบบสุริยะ ซึ่งเลยจากนั้นไปจะเป็นห้วงอวกาศด้านนอกที่ติดต่อกับกลุ่มดาวอื่น ๆ

Artists impression of New Horizons spacecraft

ภาพจากฝีมือศิลปินแสดงให้เห็นยาน New Horizons ในระยะใกล้

รายงานการค้นพบที่ตีพิมพ์ในวารสาร Geophysical Research Letters คาดว่ากำแพงนี้ก่อตัวขึ้นจากอะตอมไฮโดรเจนที่ลมสุริยะพัดพาให้ล่องลอยออกไปยังรอบนอก แต่เมื่อลมสุริยะมีพลังอ่อนลงและพบกับแรงดันจากก๊าซในห้วงอวกาศ อะตอมไฮโดรเจนที่เป็นกลางทางไฟฟ้าจะเคลื่อนตัวช้าลงเรื่อย ๆ จนหยุดนิ่งและสะสมตัวเป็นกลุ่มก้อนในที่สุด

ยานนิวฮอไรซันส์ตรวจพบการส่องสว่างของรังสียูวีดังกล่าวหลายครั้ง ระหว่างปี 2007-2017 และก่อนหน้านั้นยานวอยเอเจอร์ก็เคยตรวจพบสัญญาณดังกล่าวเช่นกันเมื่อราว 30 ปีก่อน


ดร. เลสลี่ ยัง จากสถาบันวิจัยเซาท์เวสต์ของสหรัฐฯ หนึ่งในทีมผู้ควบคุมยานนิวฮอไรซันส์บอกว่า ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่พบหลักฐานชี้ถึงการมีอยู่ของกำแพงไฮโดรเจน ซึ่งนักดาราศาสตร์ได้ทำนายไว้ล่วงหน้าแล้วหลายปี แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการสำรวจเพื่อเก็บหลักฐานยืนยันเพิ่มเติมอีกในภารกิจครั้งหน้า