Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2563

พบชั้นบรรยากาศ บนดาวเคราะห์คล้ายโลก

ภาพจำลองดาวเคราะห์ GJ 1132b: ชั้นบรรยากาศอาจมีน้ำหรือก๊าซมีเทน

บทความเชิงวิชาการ ที่ตีพิมพ์ในวารสารดาราศาสตร์ Astronomical Journal ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคีล ได้ศึกษาดาวชื่อ GJ 1132b ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าโลก 1.4 เท่า และอยู่ห่างออกไป 39 ปีแสง โดยสังเกตพบว่า ดาวดวงนี้ปกคลุมไปด้วยกลุ่มก๊าซเป็นชั้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นน้ำหรือก๊าซมีเทน หรือเป็นองค์ประกอบของทั้งสองอย่างรวมกัน

การค้นพบชั้นบรรยากาศ และการบ่งบอกลักษณะที่พบได้ ถือเป็นก้าวสำคัญ ของการเสาะหาดาวเคราะห์ดวงอื่นที่อยู่นอกเหนือระบบสุริยะของโลก

อย่างไรก็ตาม ดาวที่ค้นพบนี้ไม่น่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตได้ เนื่องจากมีอุณหภูมิพื้นผิวสูงถึง 370 องศาเซลเซียส

ดร.จอห์น เซาท์เวิร์ท หัวหน้านักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคีล กล่าวว่า 'เท่าที่ผมรู้ อุณหภูมิสูงที่สุดที่สิ่งมีชีวิตจะสามารถอยู่รอดได้บนโลกคือ 120 องศาเซลเซียส และนั่นยังถือว่าเย็นกว่าดาวดวงนี้มาก'

ลักษณะทางเคมี
การค้นพบดาวเคราะห์ GJ 1132b ถูกประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2015 โดยมองเห็นได้จากกลุ่มดาววีล่า ทางซีกโลกใต้

แม้ว่าจะมีขนาดใกล้เคียงกับโลก แต่ดาวดวงนี้ โคจรอยู่รอบดาวที่เล็กกว่า อุณหภูมิต่ำกว่า และสว่างไม่เท่ากับดวงอาทิตย์

นักวิจัยศึกษาดาวดวงนี้จากกล้องโทรทรรศน์ของศูนย์ดูดาวยุโรปประจำซีกโลกใต้ (European Southern Observatory) ในประเทศชิลี โดยได้สังเกตลักษณะการบดบังแสง เวลาที่ดาว GJ 1132b โคจรผ่านด้านหน้าดาวที่เป็นแหล่งกำเนิดแสง

ดร.เซาท์เวิร์ท กล่าวว่า 'มันทำให้ดาวดูจางลง ซึ่งเป็นวิธีที่ดี ในการค้นหาดาวที่อยู่ในวงโคจร'

ตามสันนิษฐานเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศ โมเลกุลที่ต่างกันในชั้นบรรยากาศ จะดูดซับแสงในลักษณะต่างกัน ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจหาลักษณะทางเคมีเวลาที่ดาวโคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์ได้ ซึ่งจากการสังเกตดาว GJ 1132b ชี้ว่า ชั้นบรรยากาศที่หนาทึบน่าจะมีองค์ประกอบของไอน้ำ และ/หรือ ก๊าซมีเทน

ดร.เซาท์เวิร์ท กล่าวว่า "หนึ่งในความเป็นไปได้ ก็คือดาวนี้เป็น 'โลกที่ปกคลุมไปด้วยน้ำ' และมีชั้นบรรยากาศที่เป็นไอน้ำร้อน" แม้ว่ามีความเป็นได้น้อยที่จะมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวดาวนี้ แต่การค้นพบชั้นบรรยากาศ ก็เป็นเหตุผลสนับสนุนให้มีการเสาะหาชีวิตนอกโลกต่อไป

ดร.เซาท์เวิร์ท กล่าวว่า 'สิ่งที่เราชี้ให้เห็นก็คือ ดาวที่โคจรอยู่รอบ low mass star (ดาวที่มีมวลต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของมวลดวงอาทิตย์) สามารถมีชั้นบรรยากาศได้ และเนื่องจากในอวกาศมีหลายจักรวาล ก็มีโอกาสเท่า ๆ กันที่จะพบดาวที่มีสิ่งมีชีวิตด้วย'
ด้านมาเร็ค คูคูลา นักดาราศาสตร์ประจำศูนย์ดูดาวกรีนิช พูดถึงงานวิจัยนี้ว่า 'เป็นการพิสูจน์แนวคิดที่ดี หากเทคโนโลยีสามารถตรวจจับชั้นบรรยากาศได้ ก็มีโอกาสที่จะศึกษาชั้นบรรยากาศบนดาวที่มีลักษณะคล้ายโลกได้มากขึ้นในอนาคตอันใกล้'

รายการบล็อกของฉัน