หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ถ้ามีมนุษย์ต่างดาว ที่อยู่ใกล้กับโลก 1,004 แห่ง ควรเห็นสัญญาณของสิ่งมีชีวิตบนโลกแล้ว


ถ้ามีมนุษย์ต่างดาวอยู่ภายในกาแล็กซีของเรา ป่านนี้พวกเขาก็น่าจะได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับพวกเราแล้ว จากงานศึกษาใหม่โดยสองนักดาราศาสตร์ระบุว่า มีดาวฤกษ์ที่คล้ายกับดวงอาทิตย์ของเราอยู่เป็นจำนวน 1,004 ดวง ซึ่งทุกดวงล้วนแล้วแต่มีโอกาสที่จะมีดาวเคราะห์คล้ายโลกโคจรอยู่ภายในเขตอาศัยได้ ดังนั้นหากมีมนุษย์ต่างดาวอันชาญฉลาดอยู่บนดาวเคราะห์นอกระบบเหล่านั้น พวกเขาก็ควรมองเห็น สัญญาณเคมีของสิ่งมีชีวิตบนโลกของเราแล้ว

เพราะจากมุมมองของดาวเคราะห์เหล่านั้น พวกเขาจะมองเห็นโลกของเราเคลื่อนที่ผ่านหน้าดวงอาทิตย์เป็นบ่อยครั้งในวงโคจร และปรากฏให้เห็นเป็นจุดความมืดเล็กๆ บนกราฟ หรือคล้ายกับวิธีที่เราใช้ค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบด้วยวิธีการเคลื่อนผ่านทางดาราศาสตร์ (Transit) นั่นเอง ซึ่งในตลอด 11 ปีที่ผ่านมา เราก็ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบด้วยวิธีนี้มามากถึง 3 พันดวงแล้ว

ด้วยวิธีการเคลื่อนผ่านทางดาราศาสตร์นี้ ไม่เพียงแต่ทำให้เรารู้ว่ามีดาวเคราะห์อยู่ข้างนอกนั้น เท่านั้น เพราะมันยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุได้ถึงขนาดของดาว รวมถึงองค์ประกอบในชั้นบรรยากาศของดาวได้ด้วย (โดยการวิเคราะห์สเปกตรัมของแสง) ด้วยวิธีเดียวกันนี้ พวกเขาก็น่าจะได้เห็นถึงรูปแบบของสารประกอบอินทรีย์ในชั้นบรรยากาศของเราแล้ว รวมถึงองค์ประกอบในชั้นบรรยากาศต่างๆ เช่นไอน้ำ, ออกซิเจน, ไนโตรเจน, คาร์บอนไดออกไซด์ และอื่นๆ เป็นต้น 

โดยสารประกอบบางอย่างนั้นสามารถคาดเดาได้ไม่ยากว่าไม่น่าจะใช่กระบวนการที่เกิดขึ้นทางธรรมชาติเป็นแน่ เช่นไนตรัสออกไซด์ ที่เป็นผลผลิตมาจากสิ่งมีชีวิตจำพวกแบคทีเรีย หรือก๊าซออกซิเจนจำนวนมาก ที่เป็นผลผลิตมาจากกระบวนการสังเคราะห์แสงของแพลงตอน, สาหร่าย และพืช
 
ลิซา คาลเทเนเกอร์ (Lisa Kaltenegger) ผู้ร่วมเขียนงานศึกษาชิ้นนี้กล่าวว่า “หากเราพบเจอดาวเคราะห์ที่มีลักษณะเด่นทางชีวมณฑล นั่นก็เท่ากับว่าเราได้ค้นพบรูปแบบไม่ชอบมาพากลของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นบนดาวเคราะห์ดวงนั้นแล้ว นอกเสียจากว่าไม่มีใครอยู่ที่นั่นมองดูพวกเรา”

เธอ และผู้ร่วมเขียน จัวชัว เพบเพอร์ (Joshua Pepper) รองศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ ณ มหาวิทยาลัยลีไฮ เพนซิลเวเนีย ได้เผยแพร่งานวิจัยนี้ลงในวารสารประจําเดือนราชสมาคมดาราศาสตร์ (Royal Astronomical Society) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2020

งานวิจัยของทั้งสองนักดาราศาสตร์ ได้ศึกษาดาวฤกษ์ระบุตัวตนทั้งหมดภายในระยะ 326 ปีแสงจากโลก เพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาวเหล่านั้น และถ้าพวกเขามีอยู่จริง พวกเขาก็น่าจะมองเห็นเราแล้ว และเราก็ควรจะมองเห็นพวกเขาเช่นกัน จนอาจนำไปสู่การส่งสารไปมาหากันอยู่ภายในระยะ 326 ปีแสง

Kaltenegger ยังกล่าวเสริมอีกว่า ถ้าเรากำลังมองหาสิ่งมีชีวิตอันชาญฉลาดในจักรวาลที่สามารถพบเจอเราได้ และต้องการจะติดต่อกับเรา เราก็ควรสร้างแผนที่ดวงดาวขึ้นมาเพื่อระบุถึงสถานที่ๆเราจะสามารถมองเห็นพวกเขาได้เอาไว้ด้วย

โดยทั้ง Kaltenegger และ Pepper ได้เลือกดาวฤกษ์ในบัญชีรวมรายชื่อของนาซ่ามาวิเคราะห์ ที่มาจากการสำรวจด้วยกล้องโทรทรรศน์ และ Transiting Exoplanet Survey Satellite หรือดาวเทียม TESS

ดาวเทียม TESS ในปัจจุบันได้สแกนท้องฟ้าไปกว่า 85 เปอร์เซ็นแล้ว และค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกนับสิบดวง รวมถึงยังมีดาวเคราะห์อีกนับพันที่รอคอยการยืนยัน 

อันที่จริงแล้วยังมีดาวฤกษ์อีกเป็นจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ร่วมกันในจำนวนดาวฤกษ์ 1,004 ดวงนี้ เพียงแต่ว่ากลุ่มของดาวฤกษ์ 1,004 ดวงนี้ ถูกประเมินว่ามีความเป็นไปได้หากว่ามีเอเลี่ยนที่ฉลาดอยู่ภายในดาวเคราะห์ในเขตอาศัยได้ พวกเขาก็น่าจะมองเห็นพวกเราแล้ว ในขณะที่ทางช้างเผือกของเรา ยังมีดาวดาวฤกษ์อีกเป็นจำนวนมากที่มีดาวเคราะห์ และคาดว่ามีอยู่นับพันล้านเลยทีเดียวที่มีลักษณะคล้ายกับระบบสุริยะของเรา

Pepper กล่าวปิดท้ายว่า มีเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของดาวเคราะห์นอกระบบที่เราจะสามารถมองเห็นรูปแบบการโคจรของมันได้ นี่ก็หมายความว่าหากดาวเคราะห์ไม่ได้เคลื่อนตัวอยู่ในแนวระดับสายตาของเรา เราก็จะมีโอกาสน้อยมากที่จะพบเจอดาวเคราะห์เหล่านี้ได้ 
อย่างไรก็ตามดาวฤกษ์ทั้งหมดจากการวิเคราะห์ทั้งพันดวงดังที่ได้กล่าวมาก็คือ ดาวฤกษ์เพื่อนบ้านที่สามารถมองเห็นวงโคจรของโลกเคลื่อนผ่านหน้าดวงอาทิตย์ได้นั่นเอง ซึ่งถ้าหากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาอยู่ที่นั่นจริง พวกเขาก็ควรจะมองเห็นถึงความพิเศษและเย้ายวนใจของโลกใบนี้แล้ว