หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2563

พบหลุมดำขนาดเล็กตั้งอยู่ใกล้โลกมากที่สุดเพียง 1,000 ปีแสง มีดาวฤกษ์โคจรวนรอบ 2 ดวง


พบหลุมดำขนาดเล็กตั้งอยู่ใกล้โลกมากที่สุดเพียง 1,000 ปีแสง มีดาวฤกษ์โคจรวนรอบ 2 ดวง

นักดาราศาสตร์จากหอสังเกตการณ์ท้องฟ้าซีกโลกใต้แห่งยุโรป (ESO) เผยว่าค้นพบหลุมดำขนาดเล็กที่มีดาวฤกษ์โคจรวนรอบ 2 ดวง ตั้งอยู่ใกล้กับโลกในระยะประชิดติดกันมากที่สุด เท่าที่เคยมีการค้นพบมา

หลุมดำดังกล่าวมีมวลอย่างน้อย 4 เท่าของดวงอาทิตย์ ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวกล้องโทรทรรศน์ (Telescopium) ห่างจากโลก 1,000 ปีแสง หรือราว 9,500 ล้านล้านกิโลเมตร ซึ่งถือว่าอยู่ใกล้มากหากเทียบกับความกว้างของกาแล็กซีทางช้างเผือกที่คิดเป็นระยะทาง 2 ล้านปีแสง

หลุมดำดังกล่าวอยู่ในภาวะนิ่งเงียบ โดยยังไม่มีการปลดปล่อยพลังงานจากจานพอกพูนมวล (accretion disk) ซึ่งปกติแล้วเป็นวิธีที่ใช้ตรวจจับการมีอยู่ของหลุมดำที่มืดสนิทได้

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ทราบถึงความเคลื่อนไหวของหลุมดำที่ค้นพบล่าสุด จากวิถีการโคจรของดาวฤกษ์ 2 ดวงซึ่งอยู่ร่วมกับหลุมดำดังกล่าวเป็นระบบดาว HR 6819 โดยเผยว่าเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบหลุมดำด้วยวิธีการเช่นนี้

รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Astronomy & Astrophysics ระบุว่าทีมผู้วิจัยใช้กล้องโทรทรรศน์ของหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ลาซีญา (La Silla) ที่ประเทศชิลี ติดตามการเคลื่อนที่ของดาวฤกษ์ทั้งสองดวงข้างต้น จนพบว่าดวงหนึ่งเป็นคู่ของหลุมดำที่โคจรวนรอบกันและกัน โดยมีดาวฤกษ์อีกดวงหนึ่งเป็นบริวาร คอยโคจรวนรอบคู่หลุมดำ-ดาวฤกษ์ที่อยู่ชั้นในอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งคาบการโคจรใช้เวลารอบละ 40 วัน

ผู้ที่อยู่ในเขตท้องฟ้าซีกโลกใต้ สามารถสังเกตเห็นดาวฤกษ์ที่โคจรรอบหลุมดำนี้ได้ด้วยตาเปล่า หากอยู่ในสถานที่และสภาพอากาศที่มีทัศนวิสัยดีพอ อย่างไรก็ตาม ระยะนี้อาจสังเกตเห็นได้ยากอยู่สักหน่อย เพราะเป็นช่วงเวลาที่ดาวทั้งสองขึ้นจากขอบฟ้าทางด้านหลังของดวงอาทิตย์

ที่ผ่านมามีการตรวจพบหลุมดำในกาแล็กซีทางช้างเผือกไปแล้วไม่ถึง 30 แห่ง แต่ในทางทฤษฎีควรจะมีหลุมดำในดาราจักรของเราอยู่มากกว่านั้น ซึ่งอาจมีถึง 100 ล้านแห่ง
นักดาราศาสตร์ของ ESO บอกว่า ในบรรดาหลุมดำจำนวนมหาศาลที่ยังค้นหาไม่พบนั้น อาจมีที่อยู่ใกล้กับโลกของเราอีกสัก 2-3 แห่งก็เป็นได้