ข้อมูลน่าสนใจที่ส่งมาจากยานปาร์กเกอร์ฯ ขณะโคจรเฉียดดวงอาทิตย์รอบล่าสุด
ยานอวกาศ Parker Solar Probe ของ NASA ได้โคจรเข้าเฉียดดวงอาทิตย์ในระยะที่ใกล้ที่สุดเท่าที่เคยมีในประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศเป็นรอบที่ 3 และรอบนี้อุปกรณ์ต่างๆบนยานได้ส่งข้อมูลที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนกลับมาให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ได้แปลกใจกันรวมทั้งสิ้น 5 ประการ
🌞ประการที่ 1 โซนปลอดฝุ่น
ทั่วทั้งอวกาศนอกโลกของเรานั้นเต็มไปด้วยฝุ่นขนาดเล็กซึ่งเป็นส่วนที่หลงเหลือจากดาวหาง ดาวเคราะห์น้อย หรือเทหวัตถุอื่นๆ แต่ที่ระยะประมาณ 5.6 ล้านกิโลเมตรจากผิวดวงอาทิตย์กลับแตกต่างออกไป ความร้อนแรงจากดวงตะวันได้แผดเผาฝงฝุ่นต่างๆจนสลายตัวกลายเป็นแก้ส ทำให้เกิด “โซนปลอดฝุ่น” ขึ้นมารอบรัศมีดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีอยู่จริง
☀️ประการที่ 2 เส้นแรงแม่เหล็กมีการ “สบัดกลับ”
เส้นแรงแม่เหล็กรอบดวงอาทิย์เมื่อมองจากระยะไกลเราจะเห็นมันพุ่งออกมาเป็นเส้นตรง แต่เมื่อเข้าไปดูที่ระยะใกล้ อุปกรณ์ FIELDS บนยานปาร์กเกอร์ ตรวจพบการสบัดกลับหรืออาการ “switchbacks” ของเส้นแรงแม่เหล็ก ลักษณะคล้ายอักษร Z ซึ่งก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอย่างมหาศาลในบริเวณที่เกิดการสบัดกลับนี้ ประการนี้อาจนำไปสู่การพบต้นเหตุสำคัญที่บรรยากาศชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์มีอุณหภูมิสูงกว่าผิวดาวก็เป็นไปได้ ซึ่งที่มาที่ไปของการสบัดกลับรูปตัว Z นี้ยังไม่มีใครทราบสาเหตุที่มาที่ไป ทีมงานคาดว่าในรอบต่อไปที่ยานเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่านี้ เราอาจได้คำตอบสำคัญเพื่อคลี่คลายข้อสงสัยที่มีมาอย่างยาวนานก็เป็นได้
🌝ประการที่ 3 ความปั่นป่วนของลมสุริยะ
ลมสุริยะคืออนุภาคมีประจุที่เคลื่อนที่ออกจากดวงอาทิตย์กระจายไปทั่วระบบสุริยะของเรา ลมสุริยะนั้น “ขี่” ไปบนเส้นแรงแม่เหล็กที่ปล่อยออกจากดวงอาทิตย์ และการเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ของยานปาร์กเกอร์รอบนี้ เครื่องมือ SWEAP ของยาน (ย่อมาจาก Solar Wind Electrons Alphas and Protons) ตรวจพบความ “ปั่นป่วน” เป็นอย่างยิ่งของอนุภาคลมสุริยะที่อยู่ใกล้ผิวดวงอาทิตย์ เนื่องจากพบว่าอนุภาคบางส่วนของลมสุริยะพุ่งออกจากดวงอาทิตย์แล้วไม่กลับมา แต่บางส่วนวนย้อนกลับพุ่งเข้าหาผิวดวงอาทิตย์ เหตุผลของเรื่องนี้อาจมาจากเรื่องการสบัดกลับรูปตัว Z ของเส้นแรงแม่เหล็กในหัวข้อที่แล้วก็เป็นได้
🌤ประการที่ 4 จุดเปลี่ยนทิศทางของลมสุริยะ
อนุภาคลมสุริยะที่เดินทางพ้นจากการ “ตกกลับ” เข้าหาดวงอาทิตย์ยังไม่ได้พุ่งออกจากดวงอาทิตย์เลยทีเดียว ยานปาร์กเกอร์พบว่า ลมสุริยะมีการ “หมุน” ไปตามการโคจรรอบตัวเองของดวงอาทิตย์อีกด้วย ลองจินตนาการถึงเด็กเล่นม้าหมุน เมื่ออยู่บนจานม้าหมุน เด็กจะหมุนไปตามการหมุนของจาน แต่เมื่อเด็กปลิวออกจากจาน จะพุ่งไปเป็นเส้นตรงไม่มีความโค้งอีก สิ่งนี้เกิดกับอนุภาคของลมสุริยะเช่นกัน แต่เวลานี้ยานปาร์กเกอร์ยังไม่สามารถตรวจพบรอยต่อระหว่างอนุภาคที่วิ่งไปตามความโค้งกับอนุภาคที่พ่งหนีดวงอาทิตย์ออกมาเป็นเส้นตรงได้
🌦ประการที่ 5 อนุภาคจิ๋วที่ตรวจไม่พบจากระยะไกล
ยานปาร์กเกอร์ตรวจพบอนุภาคที่มีขนาดเล็กมากพุ่งออกมาจากดวงอาทิตย์ซึ่งเราไม่สามารถตรวจพบอนุภาคเหล่านี้จากอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่บนยานอวกาศลำอื่นที่ระยะใกล้โลกซึ่งห่างดวงอาทิตย์ออกมาค่อนข้างมาก ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องศึกษาในเชิงลึกต่อไปเนื่องจากอนุภาคเหล่านี้อาจส่งผลร้ายต่สุขภาพนักบินที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายนอกสถานีอวกาศหรืออาจส่งผลเสียต่ออุปกรร์อิเล็คทรอนิคส์ของดาวเทียมในอนาคต
ทั้ง 5 ประการนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ที่หากเราไม่ส่งยานอวกาศไป “เฉียด” ดวงอาทิตย์เราก็จะไม่มีวันได้รู้ว่าดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้โลกที่สุดดวงนี้มีอะไรที่เรายังไม่รู้ อย่างไรก็ตามในรอบโคจรต่อไป ยานปาร์กเกอร์จะเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับเก็บข้อมูลใหม่มาให่เราเรื่อยๆ โดยจุดที่จะเข้าใกล้ที่สุดคือที่ระยะ 6.12 ล้าน กม. ใกล้กว่าที่ยานเฮลิออส-2 เคยทำไว้ที่ระยะ 43 ล้าน กม.เมื่อปี 1976 หลายเท่า
ท่านอาจคิดว่าระยะ 6 ล้าน กม. ยังไม่ใกล้ดวงอาทิตย์เท่าไร ลองจินตนาการว่า ดวงอาทิตย์กับโลกเราห่างกันที่ 1 เมตร เปรียบเทียบแล้ว จุดที่ยานปาร์คเกอร์จะเข้าไปแ “แตะ” ดวงอาทิตย์จะอยู่ที่ 4 เซ็นติเมตร เท่านั้น