หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

พบดาวเคราะห์น้อย โอมูอามูอาอาจมีน้ำอยู่ด้านใน

ค้นหา
Custom Search
ดาวเคราะห์น้อย "โอมูอามูอา" มีรูปร่างยาวรีผิดจากวัตถุอวกาศทั่วไป

ดาวเคราะห์น้อย "โอมูอามูอา" มีรูปร่างยาวรีผิดจากวัตถุอวกาศทั่วไป
ผลวิเคราะห์ล่าสุดจากนักดาราศาสตร์ชี้ว่า ดาวเคราะห์น้อยรูปทรงประหลาด "โอมูอามูอา" ซึ่งมาจากนอกระบบสุริยะ อาจมีน้ำในรูปของน้ำแข็งอยู่ลึกลงไปใต้พื้นผิวก็เป็นได้

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า โอมูอามูอาไม่ได้แผ่กลุ่มก๊าซหรือไอน้ำออกมาโดยรอบเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ทั้งที่เป็นปรากฏการณ์ที่พบได้บ่อยในดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยดวงอื่น ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนสันนิษฐานว่า โอมูอามูอาไม่มีน้ำแข็งเป็นองค์ประกอบหรือมีอยู่น้อยมาก

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาล่าสุดจากนักดาราศาสตร์มหาวิทยาลัย Queen's University Belfast (QUB)ในไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy ชี้ว่า น่าจะมีน้ำแข็งอยู่ภายใต้เปลือกผิวที่เป็นคาร์บอนหนาของโอมูอามูอา โดยอาจอยู่ลึกลงไปราวครึ่งเมตรหรือมากกว่า

"เมื่อดาวเคราะห์น้อยนี้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ อุณหภูมิที่พื้นผิวจะอยู่ที่ราว 300 องศาเซลเซียส แต่ถ้าส่วนที่เป็นน้ำแข็งอยู่ลึกลงไป พื้นผิวดาวที่มีคาร์บอนอยู่มากก็จะยังรักษาน้ำแข็งด้านในนั้นไว้ได้" ศาสตราจารย์ อลัน ฟิตซ์ซิมมอนส์ หนึ่งในคณะผู้วิจัยกล่าว โดยอธิบายด้วยว่าการสัมผัสรังสีคอสมิกในอวกาศมาเป็นเวลานาน ทำให้โอมูอามูอาเกิดเปลือกหุ้มหนาที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่

หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ Gemini North ที่ฮาวาย คือสถานที่ติดตามศึกษา "โอมูอามูอา" ในครั้งนี้

หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ Gemini North ที่ฮาวาย คือสถานที่ติดตามศึกษา "โอมูอามูอา" ในครั้งนี้

ดร. มิเชล แบนนิสเตอร์ ผู้ร่วมทีมวิจัยอีกผู้หนึ่งกล่าวว่า เมื่อสำรวจลักษณะการสะท้อนแสงอาทิตย์ของโอมูอามูอาแล้วพบว่า มีการสะท้อนแสงทั้งในแถบความยาวคลื่นที่มองเห็นด้วยตาและในแถบอินฟราเรด ซึ่งยืนยันว่าดาวเคราะห์น้อยนี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติและไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์จากต่างดาว

"โอมูอามูอายังมีลักษณะอื่น ๆ เหมือนกับวัตถุอวกาศที่พบได้ตามรอบนอกของระบบสุริยะ ซึ่งทำให้คาดได้ว่ากระบวนการก่อตัวของดาวเคราะห์และดาวเคราะห์น้อยต่าง ๆ ในระบบสุริยะของโลก ก็คล้ายคลึงกับกระบวนการเดียวกันที่เกิดขึ้นในระบบสุริยะอื่น ๆ นั่นเอง" ดร.แบนนิสเตอร์กล่าว

ทั้งนี้ ดาวเคราะห์น้อยโอมูอามูอามีชื่อเป็นภาษาฮาวายซึ่งแปลว่า "ผู้ส่งสารจากแดนไกลที่มาถึงเป็นคนแรก" เนื่องจากเป็นวัตถุอวกาศชิ้นแรกที่ล่องลอยมาจากนอกระบบสุริยะที่ห่างไกล ซึ่งนักดาราศาสตร์ตรวจพบเมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา

นักดาราศาสตร์เชื่อว่า "โอมูอามูอา" ล่องลอยอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกมานานหลายร้อยล้านปีแล้ว

นักดาราศาสตร์เชื่อว่า "โอมูอามูอา" ล่องลอยอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกมานานหลายร้อยล้านปีแล้ว

รูปร่างยาวรีคล้ายซิการ์ของโอมูอามูอา ออกจะผิดแปลกไปจากดาวเคราะห์น้อยทั่ว ๆ ไป ทำให้มีบางคนสันนิษฐานว่า ที่จริงแล้วดาวเคราะห์น้อยนี้ไม่ใช่วัตถุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ 

แต่เป็นยานอวกาศของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาว อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจเบื้องต้นด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุในโครงการ Breakthrough Listen ยังไม่พบร่องรอยของสิ่งมีชีวิตหรือเทคโนโลยีล้ำสมัยใด ๆ บนโอมูอามูอา
แม้คาดกันว่าดาวเคราะห์น้อยรูปทรงประหลาดนี้ถือกำเนิดขึ้นในระบบสุริยะอื่น แต่นักดาราศาสตร์เชื่อว่า 'โอมูอามูอา' คงล่องลอยอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือก โดยไม่ได้ดึงดูดเชื่อมโยงกับระบบสุริยะใดเลยมาเป็นเวลานานหลายร้อยล้านปีแล้ว ก่อนที่จะผ่านเข้ามายังระบบสุริยะของโลก