Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ชี้วิวัฒนาการของกบเป็นผลจากอุกกาบาตถล่มโลก

กบลูกดอกพิษลายสีเขียวและดำตัวนี้พบได้ในแถบอเมริกากลาง

ความหลากหลายของกบนานาชนิด ที่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบว่ามีอยู่ทั่วโลกกว่า 6,700 ชนิดพันธุ์ เป็นผลมาจากเหตุการณ์อุกกาบาตยักษ์ถล่มโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อน ซึ่งล้างเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์จนหมดสิ้นไป แต่กลับช่วยให้กบมีวิวัฒนาการแยกออกเป็นหลายชนิดพันธุ์ รวมทั้งเพิ่มจำนวนประชากรแพร่ขยายออกไปในระบบนิเวศทั่วทุกมุมโลก

มีการเผยแพร่รายละเอียดของการค้นพบดังกล่าว ในวารสารวิชาการ PNAS โดยคณะวิจัยร่วมระหว่างจีนและสหรัฐฯเปิดเผยว่า ได้ศึกษาตัวอย่างดีเอ็นเอจากกบชนิดพันธุ์หลักจำนวนหนึ่ง แล้วนำข้อมูลมาประกอบกับการศึกษาดีเอ็นเอที่ได้จากซากฟอสซิลกบโบราณ ทำให้สามารถสร้างแผนภูมิอธิบายความเชื่อมโยงทางสายพันธุกรรมของกบและวิวัฒนาการของมันในช่วงหลายล้านปีที่ผ่านมาได้

คณะนักวิจัยพบว่ากบในสามกลุ่มหลัก หรือ 88 % ของกบที่ยังคงดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ในขณะนี้ มีต้นกำเนิดมาจากช่วงหลังเหตุการณ์อุกกาบาตล้างเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์เมื่อ 66 ล้านปีก่อน โดยกบเหล่านี้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกันเป็นส่วนใหญ่ในช่วงเวลาดังกล่าว แม้ว่าบรรพบุรุษเก่าแก่ที่สุดของกบจะปรากฏตัวขึ้นบนโลกครั้งแรกมาก่อนหน้านั้น หรือเมื่อราว 200 ล้านปีก่อนก็ตาม

👉กบต้นไม้ตาแดงเป็นหนึ่งในชนิดพันธุ์ที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์อุกกาบาตยักษ์พุ่งชนโลก 66 ล้านปีก่อน

นายเดวิด แบล็กเบิร์น หนึ่งในคณะนักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติฟลอริดาบอกว่า ผลการวิจัยของพวกเขาชี้ชัดว่าบรรพบุรุษของกบที่มีอยู่ก่อนเหตุการณ์อุกกาบาตยักษ์พุ่งชนโลกนั้น ไม่สามารถปรับตัวเข้าอยู่อาศัยตามต้นไม้ได้ดีเท่ากบชนิดพันธุ์ใหม่จำนวนมากที่มีวิวัฒนาการเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งกบเหล่านี้คือกบส่วนใหญ่ที่เราพบได้ในปัจจุบันนั่นเอง

ด้านนายเผิง จาง ผู้ร่วมคณะวิจัยอีกผู้หนึ่งจากมหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็นในนครกวางโจวของจีนบอกว่า ผลการค้นพบครั้งนี้ชี้ว่ากบเป็นสัตว์ที่แข็งแกร่งที่สุดชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถเอาตัวรอดจากหายนะภัยครั้งใหญ่ และปรับตัวขยายเผ่าพันธุ์ได้โดยอาศัยประโยชน์จากการที่อุกกาบาตทำให้ไดโนเสาร์ที่เคยครองโลกสูญพันธุ์ไป และยังดำรงชีวิตในสภาพธรรมชาติที่มีพืชพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นหลังการทำลายของอุกกาบาตได้ดีอีกด้วย

👉ภาพจากฝีมือศิลปินแสดงให้เห็นขอบเขตของหลุมอุกกาบาตชิกซูลุบ ซึ่งปัจจุบันส่วนหนึ่งจมอยู่ใต้อ่าวเม็กซิโก

ทั้งนี้ อุกกาบาตขนาดยักษ์ที่พุ่งชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อนที่ปลายคาบสมุทรยูคาตันของเม็กซิโก ได้ปลดปล่อยพลังงานมหาศาลที่สูงกว่าพลังงานจากระเบิดปรมาณูลูกเดียวถึง 1 พันล้านเท่า จนทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตชิกซูลุบ (Chicxulub )ที่มีความกว้างถึง 180 กิโลเมตร รวมทั้งทำลายสิ่งมีชีวิตบนโลกไปถึงหนึ่งในสามและทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ 
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้ได้เปิดทางให้สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ เช่น นก เต่า และสัตว์เลื้อยคลานมีวิวัฒนาการและเพิ่มจำนวนขึ้นมาแทน

รายการบล็อกของฉัน