ภาพจำลองกาแล็กซีทางช้างเผือก
ข้อถกเถียงร้อนแรงเรื่องหนึ่งในวงการฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ คือการคำนวณหาค่าคงที่ฮับเบิล
(Hubble constant) ที่บ่งบอกถึงการขยายตัวของเอกภพด้วยอัตราเร่ง โดยมีนักวิทยาศาสตร์สองกลุ่มคำนวณหาค่านี้ได้แตกต่างกันราว 10% มาโดยตลอด
แม้ค่าคงที่ฮับเบิลโดยประมาณจะอยู่ที่ 70 กิโลเมตรต่อวินาทีต่อเมกะพาร์เซก ซึ่งหมายถึงเอกภพมีอัตราการขยายตัวเพิ่มที่ 70 กม./วินาที ในระยะทางทุก ๆ 3.26 ล้านปีแสง แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ใช้ข้อมูลจากการแผ่รังสีไมโครเวฟพื้นหลังของจักรวาล (CMB) จะคำนวณค่าคงที่ฮับเบิลได้ 67.4 ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ซึ่งใช้ข้อมูลการเดินทางของแสงจากเหตุการณ์ซูเปอร์โนวา จะคำนวณค่าคงที่ฮับเบิลได้มากกว่าที่ 74
ล่าสุด ศ. ลูคัส ลอมบริเซอร์ นักฟิสิกส์ทฤษฏีจากมหาวิทยาลัยเจนีวา (UNIGE) ของสวิตเซอร์แลนด์ ได้เสนอแนวคิดใหม่ที่จะช่วยอธิบายสาเหตุของข้อขัดแย้งดังกล่าว และสามารถหาข้อสรุปให้แก่เรื่องค่าคงที่ฮับเบิล ซึ่งมีความสำคัญยิ่งยวดต่อพื้นฐานการศึกษาด้านจักรวาลวิทยา
ศ. ลอมบริเซอร์ ตีพิมพ์บทความวิจัยข้างต้นในวารสาร Physics Letters B โดยระบุถึงสมมติฐานที่มีความเป็นไปได้ว่า กาแล็กซีทางช้างเผือกที่เราอาศัยอยู่รวมทั้งดาราจักรใกล้เคียงอีกหลายพันแห่ง อาจอยู่ใน "ฟองฮับเบิล" (Hubble bubble) ซึ่งเป็นพื้นที่ทรงกลมในอวกาศขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 250 ล้านปีแสง
กาแล็กซี M106 ในกลุ่มดาวสุนัขล่าเนื้อและดาราจักรข้างเคียง ซึ่งอาจอยู่ภายในฟองอวกาศของตนเช่นกัน
กาแล็กซีทางช้างเผือกและดาราจักรเพื่อนบ้าน อาจแยกกันอยู่ในฟองอวกาศของตนเอง โดยภายในฟองทรงกลมนี้ ความหนาแน่นของสสารทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นดวงดาวหรือกลุ่มก๊าซ จะต่ำกว่าภายนอกและพื้นที่
อื่น ๆ ในห้วงจักรวาลอยู่ครึ่งหนึ่ง
การที่สสารในกาแล็กซีทางช้างเผือกเบาบางกว่าที่อื่นถึง 50% ชี้ว่าการกระจายตัวของสสารในเอกภพนั้นไม่เป็นเนื้อเดียวกัน หรือไม่มีความสม่ำเสมอคล้ายคลึงโดยทั่วกัน อย่างที่นักวิทยาศาสตร์เคยคิดเอาไว้ ซึ่งเหตุนี้น่าจะทำให้ผลการคำนวณค่าคงที่ฮับเบิลด้วยแสงจากซูเปอร์โนวาคลาดเคลื่อนไปมากกว่าของอีกวิธีหนึ่ง