นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นดวงใหม่ที่แปลกไม่เหมือนกับดาวเคราะห์ดวงใดที่เราเคยรู้จัก ดาวเคราะห์ดวงนี้ชื่อ เทรส-2 บี (TrES-2b) เป็นดาวเคราะห์แก๊สขนาดใกล้เคียงกับดาวพฤหัสบดี เป็นบริวารของดาว จีเอสซี 03549-02811 อยู่ห่างจากโลก 750 ปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาวมังกร
ความพิเศษของดาวเคราะห์ดวงนี้ก็คือ มันสะท้อนแสงเพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ดำยิ่งกว่าถ่านหุงข้าวเสียอีก
ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเรา เช่นดาวพฤหัสบดี สะท้อนแสงได้ดีเพราะมีเมฆแอมโมเนียซึ่งสะท้อนแสงได้มากถึงกว่าหนึ่งในสามของแสงที่ได้รับ แต่ดาวเคราะห์ที่พบใหม่นี้ไม่มีเมฆดังกล่าว
ความจริงก็ไม่มืดสนิทเสียทีเดียว แต่เปล่งแสงออกมาเป็นสีแดงริบหรี่ด้วยเนื่องจากความร้อนจัด
เดวิด คิปปิง จากศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ด-สมิทโซเนียน และ เดวิด สไปเจล จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันผู้สำรวจในครั้งนี้ได้ใช้ยานเคปเลอร์ในการวัดอัตราสะท้อนแสงของดาวเคราะห์ดวงนี้ เคปเลอร์เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ออกแบบมาเพื่อวัดความสว่างของดาวด้วยความแม่นยำอย่างสุดยอด
ขณะที่ดาวเคราะห์โคจรรอบดาวฤกษ์ความสว่างของดาวจะเปลี่ยนไปเนื่องจากดิถี (พื้นที่ส่องสว่างของดาวเคราะห์) เปลี่ยนไป ความเปลี่ยนแปลงนี้เองที่เอามาตีความเป็นอัตราสะท้อนของผิวดาวเคราะห์ได้
จากการวัดการเปลี่ยนแปลงความสว่างตลอดการโคจรกว่า 50 รอบ เคปเลอร์วัดความเปลี่ยนแปลงได้
เพียงหกในล้านส่วน ความเปลี่ยนแปลงที่น้อยมากเช่นนี้แสดงว่า เทรส-2บี เป็นดาวฤกษ์ที่มืดมาก หากเป็นดาวเคราะห์ที่มีการสะท้อนแสงดีอย่างดาวพฤหัสบดี จะต้องมีความผันแปรของความสว่างมากกว่านี้จากการเปลี่ยนแปลงดิถีขณะโคจรรอบดาวฤกษ์ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่า เทรส-2บี หันด้านเดียวเข้าสู่ดาวฤกษ์ตลอดเวลาแบบเดียวกับที่ดวงจันทร์หันด้านเดียวเข้าหาโลก
จนถึงขณะนี้กล้องเคปเลอร์พบดาวเคราะห์ต้องสงสัยแล้วถึงกว่า 1,200 ดวง การวิเคราะห์ในภายหน้าอาจพบดาวแบบเดียวกับ เทรส-2บี เพิ่มขึ้นอีกก็ได้...
เรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมโดย menmen