เมื่อพูดถึง"ดาวเคราะห์" หรือ "Planet" การระบุนิยามของสิ่งที่เรียกว่าดาวเคราะห์ยังเป็นปัญหาสำคัญของนักวิทยา ศาสตร์ดาวเคราะห์ในปัจจุบัน เนื่องจากวัตถุที่โคจรรอบดาวฤกษ์มีหลากหลายขนาดมาก ตั้งแต่ระดับไม่กี่กิโลเมตร ถึงใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดี ทำให้แบ่งประเภทวัตถุเหล่านี้ยาก
ผมเลยขอเท้าความถึง "ดาวเคราะห์โบราณ" ก่อน เพื่อให้ได้ทราบกันว่าคำ"ดาวเคราะห์"นี้มีที่มาอย่างไร และ"ดาวเคราะห์โบราณ"นี่เอง ที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมโบราณทั่วโลกอย่างชัดเจน เลยยกตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่างดาวเคราะห์กับวัฒนธรรมแถมด้วยครับ
"ดาวเคราะห์โบราณ" หรือ "Classical Planet" คือวัตถุท้องฟ้าที่เคลื่อนที่เทียบกับกลุ่มดาวฉากหลังอย่างชัดเจน เมื่อสังเกตไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง อาจนานเป็นเดือนหรือปี จึงจะสังเกตการเคลื่อนที่ได้ และมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
การเคลื่อนที่ปรากฏของดาวอังคาร (ดวงใหญ่สีส้ม) และดาวยูเรนัส (ดวงเล็กที่ปรากฏเป็นแถว) เทียบกับกลุ่มดาวฉากหลัง ภาพนี้ถ่ายในวันต่างๆแล้วเว้นช่วงเวลากัน ในปี 2546 ดาวเคราะห์ทั้งสองจะเคลื่อนที่จากทางขวามาทางซ้ายของภาพ จะเห็นว่าดาวอังคารมีการเคลื่อนที่ปรากฏถอยหลังอย่างชัดเจน
ดาวเคราะห์โบราณมี 7 ดวงประกอบด้วย
ดวงอาทิตย์
ดาวพุธ
ดาวศุกร
ดวงจันทร์
ดาวอังคาร
ดาวพฤหัสบดี
ดาวเสาร์
คำว่า"ดาวเคราะห์"ในภาษาอังกฤษ (Planet) มาจากภาษากรีก คำว่า"πλανήτης" แปลว่า"ผู้พเนจร" เนื่องจากดาวเหล่านี้เคลื่อนที่ไปบนท้องฟ้า หรือนักดาราศาสตร์โบราณมักเรียกดาวเคราะห์โบราณเหล่านี้ว่า "asteres planetai" (asteres->asterism=หมู่ดาว planet=ผู้พเนจร) ชื่อดาวเคราะห์โบราณเหล่านี้ถูกตั้งชื่อเป็นชื่อวันทั้งในซีกโลกตะวนัตกและ ตะวันออก
ดาวเคราะห์โบราณกับวัฒนธรรมและนิยายปรัมปรา
บางวัฒนธรรมมีการจับกลุ่มดาวเคราะห์ที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า 5 ดวงกับดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ เป็นกลุ่มวัตถุที่มีชื่อตามแต่ละท้องถิ่น เช่น วัตถุบนสวรรค์ทั้งเจ็ด แสงแห่งพิภพทั้งเจ็ด เป็นต้น มนุษย์ทั่วโลกรู้จักดาวเคราะห์โบราณทั้งเจ็ดนี้ก่อนยุคประวัติศาสตร์ จึงไม่มีบันทึกการค้นพบดาวเหล่านี้ชัดเจน ต่างจากกรณีดาวยูเรนัสและดาวเนปจูน
ในวัฒนธรรมตะวันตกโบราณ ได้ยกย่องและตั้งชื่อดาวเคราะห์เหล่านี้ตามชื่อภาษาละติน ของเทพต่างๆในเทพนิยายกรีก-โรมัน และนำชื่อดาวเคราะห์ไปตั้งเป็นชื่อวันในสัปดาห์
ทุกวัฒนธรรมโบราณบนโลกล้วนผูกเรื่องดาวเคราะห์โบราณเป็นตำนาน เทพนิยายต่างๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในรากฐานของโหราศาสตร์ ซึ่งคนในยุคโบราณเชื่อว่าดาวเคราะห์เป็นเหมือนเทพคอยควบคุมชะตาชีวิตคน โดยเทพประจำดาวเคราะห์เหล่านี้ คนโบราณจินตนาการจากการสังเกตการเคลื่อนที่ไปบนท้องฟ้า ลักษณะเฉพาะตัวของดาวเคราะห์ และอิทธิพลทางธรรมชาติ
ดวงอาทิตย์
ดวงอาทิตย์มีบทบาทสำคัญ เช่น เป็นแหล่งพลังงานสำคัญ ให้แก่ทุกชีวิตบนโลก และยังเป็นตัวกำหนดกลางวัน-กลางคืน หลายๆวัฒนธรรมจึงพยายามสร้างปฏิทินที่แม่นยำกับดวงอาทิตย์ให้มากที่สุด เพื่อทำนายช่วงเวลาของฤดูกาล การเก็บเกี่ยว และประเพณีที่เกี่ยวข้อง
ดวงจันทร์
ในหลายวัฒนธรรมได้บันทึกถึงความสว่างของดวงจันทร์ในเวลาต่างๆ เช่น เต็มดวง ค่อนดวง เสี้ยว (ที่เรียกกันว่า "เฟสของดวงจันทร์") สร้างเป็นปฏิทินจันทรคติ (ปฏิทินที่บอกว่า วันนี้ขึ้น-แรมกี่ค่ำ เดือนอะไร) วัฏจักรของเฟสดวงจันทร์ (เช่น จากดวงจันทร์เต็มดวงไปถึงดวงจันทร์เต็มดวงอีกครั้งหนึ่ง) ใช้ในการแบ่งปีเป็นช่วงเวลาย่อยที่เรารู้จักกันดี นั่นคือ "เดือน"
ดาวพุธ
เนื่องจากดาวพุธใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์เร็วที่สุด ชาวกรีกโบราณจึงให้ชื่อตามเทพผู้ส่งสาส์น (Mercuryของโรมัน หรือHermesของกรีก)
ดาวศุกร์
เนื่องจากดาวศุกร์ปรากฏสว่างเป็นอันดับสามบนท้องฟ้า ถัดจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ อีกทั้งปรากฏสุกสว่างสีเหลืองนวลเมื่อมองด้วยตาเปล่า เลยได้ชื่อตามเทพีแห่งความงาม (Venusของโรมัน หรือAphroditeของกรีก)
ถ้าใครเคยเห็นดาวสีเหลืองๆสว่างๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น หรือหลังดวงอาทิตย์ตก นั่นแหละครับ ดาวศุกร์ ซึ่งมักเข้าใจผิดว่าเป็น UFO บ่อยๆ
ดาวอังคาร
เนื่องจากดาวอังคารมีพื้นผิวและปรากฏเป็นสีส้มอมแดง เลยได้ชื่อตามเทพแห่งสงคราม (Marsของโรมัน หรือ Aresของกรีก)
ดาวพฤหัสบดี
เนื่องจากดาวพฤหัสบดีมีความสว่างเป็นอันดับสี่บนท้องฟ้า (ยกเว้นบางครั้งที่ดาวอังคารสว่างกว่า เมื่อดาวอังคารอยู่ใกล้โลกแบบปี 2546) และในบางช่วงเวลา เห็นดาวพฤหัสบดีได้ตลอดคืน ต่างจากดาวศุกร์ที่ปรากฏได้ใกล้ๆกับดวงอาทิตย์เท่านั้น ไม่สามารถเห็นได้ตอนดึกหรือเที่ยงคืน จึงได้ชื่อตามเทพผู้ยิ่งใหญ่ (Jupiter ของโรมันหรือ Zeus ของกรีก)
ดาวเสาร์
เนื่องจากดาวเสาร์มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ยาวนาน (ราว30ปี) จึงเห็นเคลื่อนที่ไปบนท้องฟ้าช้าๆ นักดาราศาสตร์โบราณถึงรู้ว่าดาวเสาร์อยู่ห่างจากโลกมากกว่าดาวพฤหัสบดี ถึงแม้ดาวเสาร์จะไม่ค่อยสว่างเมื่อเทียบกับดาวเคราะห์โบราณดวงอื่นๆ แต่ก็ยังสว่างมากเมื่อเทียบกับดาวฤกษ์ทั่วไปบนท้องฟ้า จึงได้ชื่อตามเทพแห่งการเกษตรแก่ๆองค์หนึ่ง (Saturnของโรมัน หรือCronusของกรีก) ซึ่งเคยเป็นผู้นำกลุ่มไททันที่ปกครองสวรรค์ก่อนถูกจูปี เตอร์ ผู้เป็นลูกล้มอำนาจดาวเคราะห์โบราณกับวัฒนธรรมอินเดีย
วัฒนธรรมอินเดียกล่าวถึงดาวเคราะห์โบราณในนาม"เทวดานพเคราะห์ (Navagraha)" โดยรวมดาวเคราะห์โบราณเข้ากับตำแหน่ง 2 ตำแหน่งบนท้องฟ้า ซึ่งจากชื่อเหล่านี้จะใกล้เคียงกับภาษาไทยมาก ได้แก่
ดวงอาทิตย์ มีชื่อสันสฤตว่า "สุริยะ" (सूर्य) หมายถึง วิญญาณ กษัตริย์ บุคคลชั้นสูง บิดา
ดวงจันทร์ มีชื่อสันสกฤตว่า "จันทรา" (चंद्र) หมายถึง จิตใจ ราชินี มารดา
ดาวอังคาร มีชื่อสันสกฤตว่า "มังคละ" (मंगल) หมายถึง ความมั่นใจ พละกำลัง อัตตา
ดาวพุธ มีชื่อสันสกฤตว่า "พุธะ" (बुध) หมายถึง การคิดวิเคราะห์ การติดต่อสื่อสาร
ดาวพฤหัสบดี มีชื่อสันสกฤตว่า "บริหัสปติ" (बृहस्पति) หมายถึง ครูบาอาจารย์
ดาวศุกร์ มีชื่อสันสกฤตว่า "ศุกระ" (शुक्र) หมายถึง ความปิติยินดี ความมั่งคั่ง
ดาวเสาร์ มีชื่อสันสกฤตว่า "ศนิ" (शनि) หมายถึง ภาระหน้าที่ อาชีพ อายุยืนนาน
"ราหู" (राहु) หมายถึง ความยุ่งเหยิง
"เกตุ" (केतु) หมายถึง อำนาจเหนือธรรมชาติ
ทั้งราหูและเกตุไม่ได้เป็นดาวเคราะห์บนท้องฟ้า แต่หมายถึงจุดโหนดขาขึ้น (Ascending Node) และจุดโหนดขาลง (Descending Node) ของวงโคจรดวงจันทร์ ซึ่งจุดโหนดของดวงจันทร์ทั้งสองของดวงจันทร์คือ ตำแหน่งที่วงโคจรดวงจันทร์ตัดกับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ (ระนาบวงโคจรของดวงจันทร์ไม่ได้ซ้อนกับกับระนาบวงโคจรของโลก แต่ทำมุมกันราว 5 องศา)
ดาวเคราะห์โบราณกับวัฒนธรรมเอเชียตะวันออก
ในวัฒนธรรมเอเชียตะวันออก ชื่อของดาวเคราะห์โบราณเหล่านี้ก็ถูกนำไปเป็นชื่อวันในสัปดาห์เช่นเดียวกัน ซึ่งดาวเคราะห์ที่มองเห็นด้วยตาเปล่าแต่ละดวงจะมีธาตุประจำด้วย (ถ้าใครดูเซเลอร์มูนน่าจะคุ้นๆกับธาตุประจำดาวเคราะห์นี้นะครับ)
ดาวพุธ (水星) ประจำธาตุน้ำ จีน=ชุ่ยซิง ญี่ปุ่น=ซูอิเซย์ เกาหลี=ซูซอง
ดาวศุกร์ (金星) ประจำธาตุโลหะหรือทองคำ จีน=จินซิง ญี่ปุ่น=คินเซย์ เกาหลี=กึมซอง
ดาวอังคาร (火星) ประจำธาตุไฟ จีน=หัวซิง(Huosing) ญี่ปุ่น=คาเซย์ เกาหลี=ฮวาซอง
ดาวพฤหัสบดี (木星) ประจำธาตุไม้ จีน=มู่ซิง ญี่ปุ่น=โมคุเซย์ เกาหลี=มกซอง
ดาวเสาร์ (土星) ประจำธาตุดิน จีน=ทู่ซิง ญี่ปุ่น=โดเซย์ เกาหลี=โทซอง
นอกจากนี้วัฏจักรปีนักษัตรในปฏิทินของจีน อาศัยคาบการโคจรของดาวพฤหัสบดีรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งยาวราว 12 ปี โดยใน 1 รอบแบ่งเป็นปีนักษัตรทั้ง 12 มีสัญลักษณ์นักษัตรตามแต่ละปีที่คนไทยรู้จักนั่นเอง นี่คือที่มาว่าทำไมคำว่า "1รอบ"=12ปีครับ
บทความนี้ ผมแปลและนำมาลงที่นี่เพื่อให้เห็นว่า คนโบราณจัดประเภทดาวเคราะห์อย่างไร และอิทธิพลของดาวเคราะห์ต่อวัฒนธรรม (ซึ่งผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรา) ผมขอเน้นย้ำตรงนี้ว่า ผมไม่ต้องการให้คนสับสนระหว่างดาราศาสตร์กับโหราศาสตร์นะครับ วิชาทั้งสองมีต้นกำเนิดเดียวกัน คือ "การสังเกตดวงดาวบนท้องฟ้า" แต่ศึกษาในคนละมุมมองกันครับ มันก็เหมือนเหรียญสองด้านนั่นล่ะครับ ถ้าจะถกกันเรื่อง"ดาราศาสตร์vsโหราศาสตร์"นี่ได้เอนทรี่ยาวๆอีกเอนทรี่เลย ล่ะครับ
บทความที่ผมแปลไป มีการทับศัพท์ด้านภาษา ถ้ามีข้อผิดพลาดตรงไหน แจ้งมาได้นะครับ หวังว่า คงจะชอบบทความนี้กันนะครับ