หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พบดาวแคระน้ำตาลโคจรรอบดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์

เบท บิลเลอร์, ไมเคิล หลิว จากมหาวิทยาลัยฮาวาย แลร์ด โคลส, เอริก นีลเซน, จาเรด เมลส์ และแอนดี สกีเมอร์ จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา ได้ค้นพบดาวแคระน้ำตาลดวงใหม่ โดยใช้กล้อง นิซี (NICI--Near-Infrared Coronagraphic Imager) ที่อยู่บนกล้องเจมิไนเหนือขนาด 8 เมตรที่อยู่ในชิลี
การค้นพบและถ่ายภาพดาวแคระน้ำตาลได้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับปัจจุบัน แต่การค้นพบครั้งนี้มีความพิเศษอยู่ตรงที่ระยะห่างระหว่างดาวแคระน้ำตาลกับดาวฤกษ์สหายที่ใกล้มากเพียง 18 หน่วยดาราศาสตร์เท่านั้น ระยะทางนี้ใกล้เคียงกับวงโคจรของดาวยูเรนัส (1 หน่วยดาราศาสตร์คือระยะทางเฉลี่ยระหว่างโลกถึงดวงอาทิตย์ หรือประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร) ดาวแคระน้ำตาลที่มีดาวสหายเป็นดาวฤกษ์ที่มีการค้นพบก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่อยู่ห่างกันเกิน 50 หน่วยดาราศาสตร์ หรือห่างกว่าระยะห่างระหว่างดาวพลูโตถึงดวงอาทิตย์เสียอีก

ดาวแคระน้ำตาลดวงนี้มีชื่อว่า พีแซด เทล บี (PZ Tel B) มีมวล 36 เท่าของดาวพฤหัสบดี ส่วนดาวฤกษ์สหายชื่อ พีแซด เทล เอ (PZ Tel A)

นอกจากระยะห่างที่แคบมากแล้ว ยังพบว่า พีแซตเทลบี กำลังเคลื่อนที่ถอยห่างจากดาวสหายอย่างรวดเร็วอีกด้วย จากการเปรียบเทียบกับภาพถ่ายที่ถ่ายไว้เมื่อเจ็ดปีก่อน พบว่าขณะนั้นดาวพีแซตเทลบียังจมอยู่ในแสงจ้าของดาวฤกษ์อยู่ นั่นแสดงว่าดาวแคระน้ำตาลดวงนี้มีวงโคจรรีมาก
ดาวพีแซตเทลเอ เป็นดาวฤกษ์แบบดวงอาทิตย์วัยรุ่น มีอายุเพียง 12 ล้านปี ความจริงดาวดวงนี้อายุน้อยมากจนถือว่ายังอยู่ในช่วงที่มีฝุ่นหนาแน่นห่อหุ้มอยู่ ซึ่งอาจถูกกวาดเซาะโดยแรงโน้มถ่วงจากดาวแคระน้ำตาลที่โคจรรอบอยู่ได้
ระบบดาวพีแซดเทลมีความสำคัญต่อนักดาราศาสตร์มาก ในฐานะของเป็นห้องทดลองที่ใช้ศึกษา

การกำเนิดของระบบสุริยะระยะต้น
เนื่องจากดาวทั้งคู่อยู่ชิดกันมาก การถ่ายภาพดาวระบบนี้จะต้องใช้เทคนิคพิเศษเพื่อจะให้เห็นเป็นภาพจุดดาวแยกกัน ดาวพีแซดเทลบีกับพีแซดเทลเอมีระยะห่างเชิงมุมเพียง 0.33 พิลิปดาเท่านั้น หรือเทียบเท่ากับขนาดเหรียญบาทที่อยู่ห่างออกไป 11 กิโลเมตร การจะถ่ายภาพที่ใกล้ขนาดนี้ นักดาราศาสตร์คณะนี้ต้องใช้กล้องนีซี (Near-Infrared Coronagraphic Imager) ซึ่งเป็นระบบถ่ายภาพที่ออกแบบมาสำหรับถ่ายภาพดาวแคระน้ำตาลและดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่นโดยเฉพาะ กล้องนี้สามารถถ่ายภาพดาวสหายที่มีแสงจางกว่าดาวฤกษ์แม่มากถึงหนึ่งล้านเท่าที่อยู่ห่างกันเพียง 1 พิลิปดาได้
ที่มา:* Brown dwarf found orbiting a young Sun-like star - astronomy.com
เรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมโดย menmen